จากวันนั้นถึงวันนี้...50 ปี "ราษฎร์จุฬาสามัคคี” ค่ายสร้างที่ยังมีชีวิต

 
23  ต.ค. 2565- www.progressTH.org  - กาติ๊บ ธัญณิชา เหลิมทอง 

เป็นอีกหนึ่งความทรงจำดีๆที่ผู้เขียนได้มีโอกาสไปเยือนโรงเรียนราษฎร์จุฬาสามัคคี  ตามคำชวนของพี่ๆชาวค่ายอาสาสมัครจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สจม.)  ที่ทำงานค่ายอาสาต่อเนื่องทั้งชีวิต

พี่ๆบอกว่าเคยมาทำค่ายสร้างที่นี่เมื่อ 50 ปีที่แล้วและก็ยังทำกันต่อจนถึงทุกวันนี้ ที่ไม่ได้เน้นเรื่องการพัฒนาคุณภาพการศึกษาเท่านั้น แต่รวมถึงการพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งด้วย  



จาก "ค่ายบ้านคำแหน"สู่...ราษฎร์จุฬาสามัคคี 

เรื่องราวของโรงเรียนแห่งนี้ ได้รับการเปิดเผยจาก พี่เจษฎน์ - เจษฏน์  อิศรางกูร ณ อยุธยา  ผู้รับผิดชอบโครงการพัฒนาโรงเรียนราษฎร์จุฬาสามัคคี ว่า ค่ายนี้เกิดขึ้นเมื่อเดือน เมษายน 2516  หรือเกือบ 50 ปีแล้ว ซึ่งตอนนั้นไม่มีใครรู้ว่าเลย "โรงเรียนบ้านคำแหน" ตั้งอยู่ที่ไหน เพราะเป็นพื้นที่ห่างไกลมาก 

พี่เจษฎน์  เล่าให้ฟังต่อว่า  การมาออกค่ายในตอนนั้น  คุณอมร  ทองพาหุสัจจะ เป็นประธานชมรมค่าย สจม. ได้มาสำรวจพื้นที่การออกค่าย โดยได้รับคำแนะนำจากรุ่นพี่ ซึ่งเป็นนายอำเภอบ้านผือ จ.อุดรธานี ว่าให้มาที่โรงเรียนนี้ ซึ่งขณะนั้นมีครู 1 คน และมีนักเรียนกว่า 30 คน 

โดยทางชมรมได้เลือกที่นี่ โดยมี คุณสิน พงษ์หาญยุทธ เป็นผู้อำนวยการค่าย (ผ.อ.ค. ภาษาชาวค่ายเรียกว่า ผอค)  โดยในขณะนั้นท่านศึกษาอยู่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ท่านเป็นสถาปนิคที่เก่งมาก ปัจจุบันท่านได้รับเลือกเป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรม)   

หลังจากสร้างอาคารเสร็จ ท่าน ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน ที่ปรึกษาชมรมฯ (อดีตรมต.ศึกษาธิการ) ซึ่งเป็นชาวค่ายรุ่น 1 มาเยี่ยมค่าย และได้ตั้งเป็นชื่อโรงเรียน ว่า "ราษฎร์จุฬาสามัคคี" มาจนถึงปัจจุบัน 

พี่เจษฏน์  อิศรางกูร ณ อยุธยา  

 กลับมาอีกครั้งเพราะทริปดอกบัวแดง 

จากนั้นเวลาก็ผ่านล่วงเลยไปนาน จนกระทั่งเมื่อช่วงเดือน มกราคม 2560  ชาวค่ายสจม. ได้มีการจัดทริป Reunion โดยเห็นตรงกันว่าอยากจะมาชมทุ่งดอกบัวแดง ที่จ.อุดรธานี 

โดยก่อนเดินทางกลับกทม. ทางคณะได้ทบทวนความทรงจำเก่าๆ ว่าเราเคยมาทำค่ายที่อุดรธานีที่ไหนกันบ้าง และได้คำตอบว่าเคยมาทำค่ายที่โรงเรียนราษฎร์จุฬาสามัคคี ที่ ต. คำบง อ.บ้านผือ   

ทางคณะจึงตัดสินใจเดินทางมาที่ รร. เพื่ออยากจะรู้ว่าค่ายที่สร้างไว้ยังคงอยู่หรือไม่และมีสภาพเป็นอย่างไร เมื่อมาถึงทางคณะได้เห็นสภาพอาคารที่ชาวค่ายเคยสร้างไว้ ในสภาพเกือบพังเต็มที เพราะเป็นเวลากว่า 40 ปีแล้ว และยังมีอาคารใหม่ที่ยังสร้างไม่เสร็จ เพราะขาดแคลนงบประมาณ

ที่มากไปกว่านั้นโรงเรียนราษฎร์จุฬาฯ ยังอยู่ในสภาพสุ่มเสี่ยงที่อาจจะถูกยุบ เพราะมีนักเรียนต่ำกว่าเกณฑ์ และผลการสอบโอเน็ตไม่ดีมากนัก เรียกได้ว่าโรงเรียนอยู่ในสภาพวิกฤต

"ทริปดอกบัวแดงเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ ที่ทำให้พี่น้องชาวค่ายราษฎร์จุฬาสามัคคีได้กลับมาที่นี่อีกครั้ง เมื่อทางชาวค่ายได้ทราบปัญหาที่เกิดขึ้นของโรงเรียนราษฎร์จุฬาฯ ก็ไม่รีรอและช่วยกันแก้ปัญหาทันที ด้วยการระดมทุนสร้างอาคารเรียนที่ถูกสร้างไว้ครึ่งๆกลางๆให้เสร็จ  รวมถึงการส่งครูมาอบรมการเรียนการสอนที่กทม.และกลับมาติวเด็กนักเรียนอย่างเข้มข้น จนกระทั่งผลสอบโอเน็ตได้คะแนนอย่างน่าประทับใจ ทำให้โรงเรียนราษฎร์จุฬาฯ เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น" พี่เจษฏน์  กล่าว 

เดินหน้าพัฒนาโรงเรียน/ชุมชนเข้มแข็ง

พี่เจษฏน์  เล่าให้ฟังต่อว่า ไม่เพียงแต่ด้านการเรียนการสอนเท่านั้น พี่ๆชาวค่ายยังเข้ามาสนับสนุนในเรื่องของกีฬา โดยเฉพาะเมื่อปี 2 ปีที่แล้ว พี่สมพร- สมพร ใช้บางยาง นายกสมาคมวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทย ได้พานักกีฬาทีมชาติมาอบรมให้กับโรงเรียนในจังหวัดอุดรธานี และมีการแข่งขันวอลเลย์บอล รุ่นเล็ก ในระดับประถมศึกษา ซึ่งโรงเรียนราษฎร์จุฬาฯ สามารถคว้ารางวัลที่ 1 มาครองได้สำเร็จ 

หลังจากนั้นก็เกิดโครงการราษฎร์จุฬาฯ อย่างต่อเนื่อง ทั้งในเรื่องการศึกษา และการพัฒนาอาชีพเพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชน โดย รศ.น.สพ. เกรียงศักดิ์ พูนสุข (น้าเหมา) ได้ลงพื้นที่อย่างต่อเนื่องเพื่อส่งเสริมให้กระบือเลี้ยงกระบือสวยงาม ซึ่งสร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่จนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น 

 พี่เจษฏน์ เล่าให้ฟังต่อไปว่า ขณะที่เรื่องการศึกษาล่าสุด  เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 เนื่องจากโรงเรียนขาดแคลนงบประมาณในการจ้างครู  เมื่อทางชาวค่ายได้ทราบปัญหานี้เกิดขึ้น จึงตัดสิน่ใจทำผ้าปาเพื่อการศึกษา  โดยใช้เวลาระดมทุน 1 เดือน เป็นเงินจำนวนถึง 1,129,727 บาท ซี่งสามารถจ้างครูได้หลายปี เพราะโรงเรียนต้องการเพียง 70,000 บาท/ปี เท่านั้น 

ผ้าป่าเพื่อการศึกษาครั้งนี้ ถือเป็นการร่วมมือร่วมใจจากชาวค่ายและเครือข่ายในการบอกบุญเพื่อสนับสนุนโรงเรียน  และเป็นการรวมตัวของชาวค่ายครั้งสำคัญที่โรงเรียนแห่งนี้  โดยมีที่้ปรึกษาในการจัดงานนำโดย ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน อดีตรมว.ศึกษาธิการ , ศ.กิตติคุณ นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล นายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  คุณมาลีรัตน์ ปลื้มจิตรชม เป็นประธานจัดงาน  คุณอดิศัย ธรรมคุปต์ ปรธานชมรมชาวค่ายสจม. รศ.น.สพ.เกรียงศักดิ์  พูนสุข  และ คุณกฤษณา ธีระวุฒิ (พี่แว๊ด) นายกสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ จังหวัดอุดรธานี ซึ่งท่านเป็นคนอุดรธานี จึงเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการดูแลโรงเรียนและชุมชนบ้านคำแหนอย่างใกล้ชิด เพราะทางสมาคมฯได้รับโรงเรียนให้อยู่ภายใต้การดูแลของสมาคมฯด้วย  

  “ทุกวันนี้เป้าหมายหลักเราบรรลุแล้ว นั่นคือ  การทำให้ชุมชนเป็นเจ้าของโรงเรียนซึ่งทำให้เราเป็นโรงเรียนขนาดเล็กตัวอย่าง ที่มีตัวแทนชุมชนเข้ามาดูแลร่วมกันตัดสินใจในเรื่องต่างๆ  ทั้งนี้ทุกอย่างเกิดขึ้นจากการติดตาม เพื่อให้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โครงการไม่หยุดชะงัก ไม่ใช่มาแค่ถ่ายรูปแล้วไปนั่งดีใจ เพราะถ้าไม่มีการติดตามโครงการที่ทำมาก็จะหายไป "  พี่เจษฏน์  กล่าวด้วยน้ำเสียงจริงจัง 

ทั้งนี้พี่เจษฏ์เองทำหน้าติดตามประสานงานระหว่างโรงเรียนและชาวค่ายมาโดยตลอด บ่อยครั้งที่พี่เจษฏน์จะขับรถมาจากกรุงเทพฯด้วยตัวเองไป-กลับเกือบ 1,500 กม. เพื่อดูความคืบหน้าของโครงการต่างๆและกลับไปรายงานให้ชาวค่ายทราบ  

ย้อนความหลัง หนุ่มสาวจุฬาฯ ไม่กลัวความลำบาก 

จากนั้น ผู้เขียนได้มีโอกาสพบกับ พ่อใหญ่ รัศมี นามไพร ชายสูงวัยอายุกว่า 80 ปี  ซึ่งเดินทางมารอต้อนรับชาวค่ายราษฎร์จุฬาฯ ได้เล่าย้อนถึงอดีตเมื่อเกือบ 50 ปีที่ผ่านมา ที่ชาวค่ายมาที่นี่ ว่า...

ชาวค่ายจุฬาฯมาที่นี่เมื่อตอนปี 2516 จำได้ว่าตอนนั้นพอได้ข่าวว่าชาวจุฬาฯ จะมารู้สึกตื่นเต้นมากจนนอนไม่หลับ ปลื้มใจมาก เพราะโรงเรียนที่นี่ห่างไกลมีครูแค่คนเดียวสอนเด็กเกือบ 50 คน พอชาวจุฬาฯมาถึงเพื่อสร้างอาคารเรียน ชาวบ้านที่นี่ก็มาช่วยสร้างด้วย เรียกได้ว่าได้ทำงานร่วมกันตั้งแต่ตอนนั้น

พ่อใหญ่ รัศมี นามไพร 
พ่อใหญ่บอกว่า การสร้างอาคารเรียนในตอนนั้น เป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะถนนหนทางไม่ดี ไฟฟ้าก็ไม่มี ผู้ร้ายก็เยอะ  ขาวค่ายต้องไปเข็นน้ำมาผสมปูนซึ่งอยู่ไกลมาก ต้องช่วยกันแบกแอกควาย เพราะสมัยนั้นไม่มีรถ 

"ตอนนั้นรู้สึกสงสารมากๆ เพราะคิดว่าบางทีพวกเขาอาจจะไม่เคยเจอความยากลำบากแบบนี้มาก่อน  แต่กลับพบว่า ชาวจุฬาฯ ทำได้หลายอย่าง ทั้งเลื่อยไม้ ทำเหล็ก ทำประตู หน้าต่าง ก่อปูน รู้สึกได้ว่า หนุ่มๆ สาวๆชาวจุฬาฯ ไม่กลัวความยากลำบาก และยังใจเย็นมาก ทำให้รู้สึกอุ่นใจ ว่าเรามีที่พี่งทางปัญญาให้ชาวบ้าน เมื่อเป็นแบบนี้ชาวบ้านก็มาช่วยชาวค่ายอย่างเต็มที่เช่นกัน” พ่อใหญ่เล่าให้ฟังด้วยน้ำเสียงมีความสุข 

พ่อใหญ่รัศมี เล่าต่อด้วยแววตามีความสุขว่า จากวันนั้นถึงวันนี้ผ่านมา 50ปี การที่ยังได้เห็นอาคารต่างๆ เหมือนเดิม และยังได้เห็นชาวค่ายที่เคยมาสร้างโรงเรียนเมื่อตอนสมัยนั้นกลับมาที่นี่รู้สึกดีใจมาก เพราะไม่เคยลืมและติดตามตลอด เมื่อได้ยินข่าวจากผู้อำนวยการโรงเรียนว่าชาวจุฬาฯจะมาเยี่ยมเยือนและช่วยกันสร้างห้องสมุด/ห้องคอมพิวเตอร์ ถือว่าเป็นความฝันมาก เพราะลูกหลานเราก็เรียนที่นี่ ซึ่งเป็นโรงเรียนของชุมชนของเรา 

“ลูกผมก็เรียนที่นี่ ทุกวันนี้ก็ได้ดีเป็นข้าราชการ ทำให้ผมรุ้สึกผูกพันกับโรงเรียนมาก ทุกวันนี้พอถึงเวลาที่จะปิดเทอม  ก็จะขอคุณครูใหญ่ที่นี่ เพื่อมาให้โอวาทกับเด็กๆว่า โตขึ้นมาอย่าจนน้ำใจ และให้เขาระลึกถึงว่าเรามาจากสถานที่สูง ราษฎร์จุฬาฯ ถือว่ายิ่งใหญ่มาก ขอให้ตั้งใจเรียนอ่อนน้อมถ่อมตน เป็นคนดี ถึงแม้เราจะมาจากสถานที่ยากจน แต่เราต้องไม่จนน้ำใจ เพราะนี่คือ ความดีที่ราษฎร์จุฬาฯ ได้ปลูกฝังไว้ การกลับมาของชาวจุฬาฯวันนี้ทำให้รู้สึกดีใจมากและตั้งใจว่า ถ้าจุฬาฯมาอีก แม้จะเดินไม่ไหวก็จะมาพบให้ได้” พ่อใหญ่กล่าวด้วยสีหน้าเปื้อนรอยยิ้ม 

ควาย 4.0 เปลี่ยนชีวิต

ด้าน สมพิศ อินทรวิชัย ผู้ใหญ่บ้านคำแหนและเพิ่งได้รับการเลือกตั้งเป็นกำนันหมาดๆถือว่าเป็นหญิงแกร่งของบ้านคำแหน ที่ทำงานร่วมกับพี่ๆชาวค่ายมาโดยตลอด  และยังเป็นเจ้าของคุ้มควายบ้านผือ ควายสวยงามชื่อดังของอุดรธานีอีกด้วย

กำนันสมพิศ  เล่าให้ฟังว่า การกลับมาของชาวค่ายมาที่ โรงเรียนราษฎร์จุฬาฯ ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับโรงเรียนและชุมชนเป็นอย่างมาก  โดยเฉพาะในส่วนของชุมชนที่แต่เดิมก็การทำมาหากินจะเป็นวิถีเดิมๆ 

แต่พอมีชาวค่ายสจม. เข้ามาส่งเสริมและนำวิทยาด้านต่างๆ มาช่วยให้ความรู้พัฒนาอาชีพให้ชาวบ้าน เช่น การปลูกดอกทานตะวัน การเลี้ยงกระบือ การเลี้ยงหมู การเลี้ยงไก่ จากสภาพเดิมๆ มาถึงปัจจุบันก็ดีขึ้น 
 โดยเฉพาะการเลี้ยงสัตว์ที่แต่ก่อนจะเลี้ยงแบบตามมีตามเกิด ไม่ได้เลี้ยงแบบสมัยใหม่เหมือนทุกวันนี้ 

กำนันสมพิศ อินทรวิชัย 

เจ้าของคุ้มควายบ้านผือ ขยายความให้ฟังต่อว่า แต่ก่อนการเลี้ยงควาย จะเลี้ยงทั้งวัน ห่อข้าวห่อปลาไปกิน แต่ปัจจุบันเป็นการเลี้ยงแบบยุคใหม่ซึ่งไม่ยาก เป็นการเลี้ยงควาย 4.0 มีสโลแกนว่า “เลี้ยงควายปีหน้า ปลูกหญ้าปีนี้” 

เจ้าของคุุ้มควายบ้านผือ บอกวิถีเลี้ยงควายแบบสมัยใหม่ อย่างละเอียดให้ฟังว่า  เราต้องเตรียมแปลงหญ้าไว้ เพื่อที่ควายตื่นขึ้นมาให้เขาได้กินหญ้าเลย  โดยกินในช่วงเช้าตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึง 4 โมงเย็น ให้เขาได้กินและพักผ่อนให้เต็มที่  จากนั้น4 โมงเย็นก็ปล่อยเขาไปออกกำลังกายและอาบน้ำจะทำให้เขาแข็งแรงผิวพรรณดี การเลี้ยงแบบนี้หลักๆคือ ให้เขาได้กินเยอะๆ พักผ่อนเยอะ เขาจะอ้วน สวยงาม และมีราคาแพง 

การเลี้ยงแบบใหม่ จะเลี้ยงแบบผสมกันระหว่างควายจัฟฟาราบัด และ ควายไทย โดยได้ความรู้นี้จาก รศ.น.สพ. เกรียงศักดิ์ พูนสุข และลูกสาว รวมถึง  ดร.สมจิตร กันธาพรม หรือ ดร.ต๋อง อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏกาฬสินธุ์  เป็นการพัฒนาสายพันธุ์ ทำให้ได้ควายที่มีขนาดใหญ่ สวยงาม ทำให้ราคาสูงขึ้นจากแต่ก่อนมาก ทั้งที่การกินและการใช้เวลาเลี้ยงเท่ากัน

“จากเดิมที่เคยเป็นควายไทยตัวเล็กๆ ราคาจะอยู่ที่ 30,000 บาท แต่การเลี้ยงแบบสมัยใหม่อาจจะได้ 3 แสน หรือ 3 ล้าน เลยด้วยซ้ำ ซึ่งที่บ้านคำแหนได้เลี้ยงควายแบบ 4.0 มาตั้งแต่ปี 2563 ทำให้คุณภาพชีวิตของประชาขนที่นี่ดีขึ้นมาก ”  กำนันสมพิศ เล่าให้ฟังด้วยสีหน้ามีความสุข 


เข้าใจแล้ว “ราษฎร์จุฬาสามัคคี” คืออะไร 

จากนั้นผู้ขียนได้พบ คุณครูกาญจนี บอลสิทธิ์ หรือ ครูแอ๋ว ผู้ซึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนา โรงเรียนราษฎร์จุฬาฯ และเป็นผู้ที่ทำงานกับพี่ๆชาวค่ายอย่างใกล้ชิด เพื่อนำแนวทางการพัฒนาลงมาปฏิบัติที่โรงเรียน 

ครูแอ๋ว เล่าให้ฟังว่า ได้ทำงานที่โรงเรียนราษฎร์จุฬาฯ ตั้งแต่ปี 2554 ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงต่างๆของโรงเรียนเยอะมาก ยอมรับว่าตอนที่มาสอนที่นี่ ไม่รู้ด้วยซ้ำว่า คำว่า "ราษฎร์จุฬาสามัคคี" คืออะไร ที่เลือกมาสอนที่นี่เพราะคิดว่าชื่อโรงเรียนไพเราะเท่านั้น  แต่ตอนนี้ได้รู้ความหมายแล้ว  ซึ่งเป็นเรื่องที่วิเศษที่สุด
  
“ตอนนี้รู้แล้วว่า คำว่า “ราษฎร์จุฬาสามัคคี” คือ ชุมชนที่นี่  + จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  เป็นการได้รู้และเข้าใจความหมายโดย ไม่ต้องมีคนมาอธิบาย เพราะพี่ๆชาวค่ายจุฬาฯทำให้เห็น ที่ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าแค่ไหน  พี่ๆชาวค่ายยังมีความตั้งใจและมุ่งมั่นในการพัฒนาชุมชนเล็กๆแห่งนี้ให้เจริญอย่างต่อเนื่อง” ครูแอ๋ว บอกเล่าด้วยน้ำเสียงตื้นตันใจ 


คุณครูกาญจนี บอลสิทธิ์

 ครูแอ๋ว บอกว่า การได้เห็นพี่ๆชาวค่ายที่เคยมาสร้างค่ายตอนปี 2516 กลับมาที่นี่ ทำให้เรารู้สึกตื่นเต้นและดีใจ เพราะเป็นการกลับมาของคนกลุ่มหนึ่งที่มีพลังในการขับเคลื่อนโรงเรียนให้เดินไปข้างหน้า ในทุกๆด้าน ถือเป็นแบบอย่างให้กับคนรุ่นหลัง โดยเฉพาะคนรุ่นกลางแบบพวกเรา ซี่งไม่มีโอกาสได้เห็นว่าปี 2516 กิจกรรมของขาวค่ายเป็นอย่างไร 

แต่พอพี่ๆ กลับมาก็ได้เห็นบรรยากาศแห่งความสามัคคี บรรยากาศของชาวค่าย และที่มากไปกว่านั้น การกลับมาของพี่ๆ ชาวค่ายถือเป็นตัวอย่างที่ดีของการมีจิตสาธารณะ/จิตอาสา คืออะไร พี่ๆ ให้คำตอบเราโดยไม่ต้องอธิบาย  เพราะพี่ๆได้ทำให้เราดูเป็นตัวอย่าง ในทุกๆปัญหาที่โรงเรียนมี พี่ๆ ชาวค่ายจะคอยช่วยเหลือ เช่น โรงเรียนขาดงบประมาณในการจ้างครู  พี่ๆ ก็จัดทำผ้าป่าการศึกษา เพื่อให้โรงเรียนมีครูสอนครบทุกช่วงชั้น

“พี่ๆชาวค่าย ให้การสนับสนุนโรงเรียนอย่างมากมาย โดยเฉพาะครั้งล่าสุดเรื่องปัญหาไม่มีงบประมาณจ้างครู โดยได้บอกพี่ๆชาวค่ายไปว่า ถ้ามีเงินสัก 7 หมื่น ก็จะสามารถผ่านช่วงปีนี้ไปได้ แต่พี่ๆ บอกว่า ช่วยลืมคำว่า 7 หมื่นไป และพี่ๆจะกลับมา ตอนนั้นเราก็คิดว่าในว่ามันจะเป็นไปได้หรือ เพราะเงินจำนวนนี้สำหรับเราถือว่าห่างไกลมาก 

และพี่ๆชาวค่ายก็กลับมา พร้อมกับผ้าป่าการศึกษาจำนวนกว่า 1 ล้านบาท ถือว่าเกินคาดมาก และยิ่งกว่ายอดเงิน คือ การกลับมาของพี่ๆชาวค่ายที่เคยมาสร้างอาคารเรียนที่นี่ เมื่อเกือบ 50 ปีก่อน และพี่ๆได้กลับมาที่นี่ ด้วยความปีติยินดี  และบอกว่าพี่เอาเงินนี้มามอบให้ เพื่อนำไปจ้างครูและฝากโรงเรียนนี้ ไว้ด้วย” ครูแอ๋ว กล่าวพร้อมน้ำตาคลอเบ้า  

ดังนั้น โรงเรียนนี้จึงเปรียบเสมือนแขนงนึงของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ซึ่งเรารู้สึกทราบซึ้งในความเมตตาของพี่ๆ ไม่ว่าจะเป็นทุกกิจกรรมคำว่า “ราษฎร์จุฬาสามัคคี” จึงอยู่ในใจของพวกเรา พี่ๆ ชาวค่าย จึงเปรียบเสมือนเป็นผู้ปกครอง เป็นหลังคาที่ปกปักรักษาชุมชนของเรา ไม่เพียงแค่เด็กนักเรียนที่รักพี่ๆ ชาวค่ายๆ แต่ทั้งชุมชน ที่ทุกคนอยากจะมาต้อนรับพี่ๆชาวค่ายทุกคน  

โรงเรียนได้รับความเมตตาจากพี่ๆชาวค่ายมาโดยตลอด โดยเฉพาะการได้ต้นจามจุรีที่เพาะจากเมล็ดต้นที่ในหลวง ร. 9 ทรงปลูกไว้ที่จุฬาฯมาปลูกที่นี่ 5 ต้น โดยปลูกเมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2560 ซึ่งตอนนี้ก็โตมากแล้ว

" เราไม่อยากจะเชื่อเลยว่า เราจะมีต้นไม้ซึ่งมาจากเมล็ดพันธุ์ที่ในหลวงทรงปลูกมาอยู่ในโรงเรียนเล็กๆแห่งนี้ที่ห่างไกลจากกทม. เกือบ 700 กม. โรงเรียนได้รับความเมตตามาก เพราะชื่อที่เกิดจากความผูกพัน “ราษฎร์จุฬาสามัคคี” ทำให้มีต้นไม้ต้นนี้เกิดขึ้น ซี่งทางโรงเรียนจะถ่ายรูปรายงานพี่ๆ และจะบอกว่าเป็นต้นไม้แห่งความรัก" ครูแอ๋ว กล่าว 

ครูแอ๋ว เล่าให้ฟังต่อด้วยสีหน้าเปื้อนยิ้ม ว่า บ้านคำแหนมีผลิตภัณฑ์หลายอย่างเกิดขึ้น จากที่พี่ๆชาวค่ายได้มอบให้ ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์จากทานตะวัน ทั้งน้ำมันสกัดเย็น สบู่ ครีมทาผิว ควายงามคำแหน ไก่ หมู เห็นแล้วรู้สึกภาคภูมิใจ เพราะแม้ที่นี่จะเป็นหมู่บ้านเล็กๆแต่หมู่บ้านที่นี่มีตวามตั้งใจจริงที่อยากจะทำ เชื่อมั่นในคำแนะนำของพี่ๆ และพี่ๆก็ไม่ได้ทิ้ง และสนับสนุนมาตลอด  และทำทุกอย่างเพื่อให้เกิดความยั่งยืนขึ้นในพื้นที่ รู้สึกประทับใจกับเรื่องราวที่นี่มาก 


พร้อมสืบสานปณิธานราษฎร์จุฬาสามัคคี

พี่สัมผัด อินทรชัย ประธานสภาเทศบาลตำบลคำบง ซึ่งเป็นหนึ่งในนักเรียนที่เรียนอยู่ที่นี่ตอนที่ชาวค่ายจุฬาฯมาออกค่ายที่นี่  ได้ย้อนความหลังเมื่อครั้งยังเด็กว่า ส่วนตัวถือว่าเป็นลูกศิษย์ โรงเรียนราษฎร์จุฬาฯรุ่นแรกเลยก็ว่าได้ เพราะตอนนั้นเรียนอยู่ชั้นป. 1 พี่ๆ ชาวค่ายได้มาสร้างอาคารเรียน เพื่อให้ รร.บ้านคำแหน (ชื่อในขณะนั้น) มีอาคารเรียนที่สมบูรณ์ เพราะตอนนั้นโรงเรียนใช้หลังคาหญ้าแฝก หญ้าคา 

ค่ายสร้างในตอนนั้น เป็นสิ่งที่เริ่มทำให้ชุมชนเล็กๆ มีโอกาสได้ใช้โรงเรียนที่สมบูรณ์ เพราะเมื่อก่อนโรงเรียนนี้เล็กมาก มีครูใหญ่ 1 คน คือ คุณครูประเสริฐ ผดุงเวียง มีนักเรียน 30 กว่าคน มีนิสิตฝึกสอน อยู่2-3 คน 

พี่สัมผัด  บอกว่า เรียนจบ ป.4 ที่นี่และไม่เคยคิดว่าพี่ชาวค่าย ราษฎร์จุฬาฯ จะกลับมาเยือนเราอีก พอพี่ๆกลับมา ถือว่าเป็นบุญวาสนา ที่ชุมชนเล็กๆของเราที่ได้ผู้ใหญ่ใจดี ให้ความร่วมมือและความเอ็นดูต่อชุมชนของเรา 

 “ความรู้สึกตอนนั้นแม้ว่าจะยังอยู่แค่ ป. 1 ก็ยังจำความรู้สึกตอนนั้นได้ว่าเป็นเรื่องแปลกที่ชาวจุฬาฯมาที่นี่ เพราะชุมชนของเรา ถือว่าเป็นพื้นที่ห่างไกลความเจริญมากๆ  รู้เลยว่าพี่ชาวค่ายๆราษฎร์จุฬาฯ  เดินทางมาด้วยความลำบาก ชาวบ้านเองก็ตื่นเต้นมาก ไม่นึกไม่ฝันว่าจะมีคนภายนอกมาเยี่ยมเยือนชุมชนของเรา รู้สึกภูมิใจและยินดีมาก ตื่นเต้นไปด้วย  ถือว่าเป็นนิมิตรหมายที่ดีต่อชุมชนมากๆที่ชาวจุฬาฯ มาที่นี่” พี่สัมผัด เล่าให้ฟังด้วยน้ำเสียงมีความสุข 

ในฐานะประธานสภาเทศบาลตำบลคำบง  พี่สัมผัด บอกว่า สำหรับอนาคตของโรงเรียนราษฎร์จุฬาฯ ชุมชนคำแหนของเรา มีความเห็นว่า อยากให้เป็นแนวทางแบบ บ้าน วัด โรงเรียน หรือ (บวร) เป็นสิ่งที่เราต้องรักษาไว้ ต้องอยู่คู่กัน มีอะไรต้องปรึกษาหารือช่วยเหลือกัน ถ้าทางโรงเรียนมีปัญหาอะไร ชุมชนก็จะเป็นพี่เลี้ยงให้โรงเรียนเสมอ และจะพยายามที่สุดเพื่อให้โรงเรียนแห่งนี้เป็นแหล่งการศึกษาที่มีคุณภาพเพื่อลูกหลานของคนในชุมชนต่อไป

นั่ง Time Machine ดูค่ายสร้าง-ค่ายสอน 
   
 ทั้งนี้บรรยากาศในวันนั้นนอกจากจะเป็นการมาเยี่ยมเยือนเพื่อดูความก้าวหน้าของโรงเรียนในด้านต่างๆแล้ว พี่ขาวค่าย นำโดยพี่บุษ- บุษบง โควินท์ นักวิชาการอิสระด้านภาษาศาสตร์  ยังได้อาสาสอนภาษาอังกฤษให้กับเด็กๆในโรงเรียน  โดยเน้นการเรียนการสอนแบบภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร   โดยมีแม่ตุ๊ก- สุภาวดี  อังศุสิงห์ เป็นผู้ช่วยอยู่ข้างๆ 

 การเรียนการสอนในวันนั้นเป็นไปอย่างสนุกสนาน เพราะพี่บุษนำสื่อการสอนและเกมต่างๆ มาเล่นกับเด็กๆ เพื่อให้เด็กๆพูดภาษาอังกฤษแบบไม่รู้ตัว  ซึ่งเป็นเทคนิคสำคัญที่พี่บุษทำให้เด็กๆก้าวผ่านความกลัวภาษาอังกฤษและสื่อสารเองโดยธรรมชาติ และทำให้เด็กๆรู้สึกว่าภาษาอังกฤษเป็นเรื่องสนุกและไม่ยาก 

 ซึ่งการสอนภาษาอังกฤษให้เด็กไทยสื่อสารได้ คือ ภารกิจในชีวิตของพี่บุษ ที่อยากเห็นคนไทยใช้ภาษาอังกฤษ ให้เป็นเครื่องมือสำคัญ ในการนำพาประเทศไทยเจริญรุ่งเรืองไม่แพ้ชาติใดในโลก 

พี่บุษบง โควินท์ 

การเรียนการสอนในวันนั้น ใช้อาคารเรียนเอนกประสงค์ที่พี่ๆชาวค่ายสร้างไว้  ทำให้ได้บรรยากาศไปอีกแบบ และอดที่จะคิดถึงอดีตเมื่อครั้ง 50 ปีที่ผ่านมาไม่ได้ เพราะบรรยากาศคงใกล้เคียงกัน แต่ต่างกันที่วันและเวลาและยุคสมัยเท่านั้น  แต่ความอิ่มเอมใจยังคงเหมือนเดิม 

 ผ่านมาเกือบ 1 เดือนแล้ว ผู้เขียนยังคิดถึงเรื่องราวของโรงเรียนราษฎร์จุฬาสามัคคีเสมอและเข้าใจ คำว่า "ชาวค่าย" มากขึ้น  ที่เป็นกลุ่มที่มารวมตัวกันและมุ่งทำแต่เรื่องดีๆเพื่อสังคม 

โดยเฉพาะกับเรื่องราวของโรงเรียนราษฎร์จุฬาฯ ที่แม้พี่ๆ จะอยู่ในวัยเกษียนกันแล้ว แต่ก็ยังมีความมุ่งมั่นเพื่อมาพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง

พี่บุษบง โควินท์ และ แม่ตุ๊ก- สุภาวดี  อังศุสิงห์

 นี่ใช่ไหมที่เขาเรียกว่า "เกียรติภูมิจุฬาฯ คือ เกียรติแห่งการรับใช้ประชาชน"  เพราะพี่ๆยังทำงานทำกับชุมชนอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย เป็นการปิดทองหลังพระ โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน มีแค่พี่ๆชาวค่ายที่รู้กันเท่านั้น

นอกจากนี้  ผู้เขียนยังได้เห็นความผูกพันของ "ชาวค่าย" ที่เป็นความผูกพันที่ยาวนานมาก เกินครึ่งของชีวิต ความเป็นพี่เป็นน้องที่จะยังคงอยู่ตลอดไป

การได้กลับมาที่โรงเรียนนี้พร้อมๆกับพี่ๆ เหมือนการย้อนเวลาหาอดึต ที่ได้เห็นความงดงามของวิถีชาวค่ายที่ทำงานร่วมกันเป็นทีม แสวงหาจุดร่วมสงวนจุดต่าง เพื่อให้เป้าหมายสำเร็จเสมอ 

ปิดท้ายที่  "คำแหนโมเดล" โดย  ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล  นายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ได้เขียนบทความ "คำแหน" โมเดล  ที่ตกผลึกจาการอ่านไลน์ข้อความจากกลุ่มชาวค่ายราษฎร์จุฬาสามัคคี และตกผลึกเป็น "คำแหนโมเดล" ดังรายละเอียดต่อไปนี้