เปิดประตูเกษตรกรไทยสู่โลกออนไลน์ ด้วยแอพฯ"TAMIS"

 9 ธ.ค.  2557- นับเป็นความก้าวหน้าอีกขั้นเพื่อเกษตรกรไทย เมื่อศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ได้พัฒนาแอพพลิเคชั่น เพื่อสร้างฐานข้อมูลเกษตรกรทั่วประเทศ โดยแอพฯนี้ชื่อว่า TAMIS (Thailand Agriculture Mobile Information System) เป็นระบบสารสนเทศเพื่อการเกษตรแบบพกพา ที่ชาวไร่ชาวนาสามารถโหลดแอพฯนี้ใส่แทบเล็ตและลงทะเบียนด้วยการรูดบัตรประชาชนสมาร์ทการ์ด จากนั้นทุกคนสามารถกรอกข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับพืชที่ตัวเองปลูก จำนวนกี่ไร่ พื้นที่ใดบ้าง พร้อมทั้งสามารถเก็บพิกัด GPS แปลงเพาะปลูกบนแผนที่กูเกิล

โดยแอพฯนี้สามารถอัพเดทได้ทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์เพื่อแก้ปัญหาในกรณีบางพื้นที่อินเตอร์เน็ตยังเข้าไม่ถึง ทำให้สามารถใช้งานระบบได้ทุกเวลา โดยข้อมูลเหล่านี้จะเชื่อมโยงกันทั่วประเทศ นอกจากนี้แอพฯดังกล่าวยังช่วยให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงใบรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ได้ง่ายขึ้น ไม่เสียโอกาสในการชายสินค้าที่จะได้ราคาสูงขึ้น เนื่องจากที่ผ่านขั้นตอนดังกล่าวใช้เวลานานหลายเดือน และต้องใช้เอกสารจำนวนมาก

เครดิตภาพจาก คมชัดลึก


เว็บไซต์คมชัดลึก รายงานว่า เมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา เนคเทคได้จัดโครงกร “พัฒนานักประกอบการวิสาหกิจชุมชนข้าวอินทรีย์” ที่จ.ยโสธร ไฮไลท์หนึ่งคือ มอบแท็บเล็ตให้กลุ่มเกษตรกรวิสาหกิจข้าวอินทรีย์ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่เกษตรกรในการเก็บข้อมูลเพื่อรับการประเมินเป็นเกษตรอินทรีย์โดยเฉพาะ
ระบบดังกล่าวช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจแปลงข้าวให้แก่เจ้าหน้าที่ในการตรวจรับรองตามมาตรฐาน GAP (Good Agriculture Practice) โดยนำอุปกรณ์แท็บเล็ตมาใช้ทดแทนแบบฟอร์มกระดาษ เครื่องมือที่พัฒนาเริ่มตั้งแต่การรับลงทะเบียนเกษตรกร การตรวจประเมิน การรายงานผลแบบเรียลไทม์ เป็นการลดกระบวนการด้านงานเอกสาร และการประมวลผลด้วยมือ ใช้กระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาช่วยในการประมวลผล จะได้ข้อมูลที่มีคุณภาพ รวดเร็ว ถูกต้อง เจ้าหน้าที่และผู้ตรวจประเมินสามารถบันทึกข้อมูล ทั้งประมวลผลหน้าแปลงนา และส่งผลลัพธ์เข้าศูนย์กลางข้อมูลแบบทันที
ล่าสุด รายงานจาก เว็บผู้จัดการออนไลน์ ระบุว่า กรมหม่อนไหม ได้ขยายการใช้แอพฯดังกล่าว ให้เป็นเหมือนตลาดออนไลน์ในการซื้อขายหม่อนไหม โดยผู้ประกอบการ และ ผู้ที่ต้องการซื้อสินค้า สามารถลงทะเบียนในแอพฯนี้ได้ ทำให้ผู้ซื้อและผู้ขายได้เจอกัน โดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง และสามารถเลือกชมสินค้าโดยไม่ต้องมาดูถึงสถานที่ ด้านเกษตรกรเองหากมีคำสั่งซื้อเกินกว่าที่ผลิตก็สามารถขายร่วมกับกลุ่มเกษตรกรอื่นได้

เครดิตภาพจาก ผู้จัดการออนไลน์
นางสมหญิง ชูประยูร นักวิชาการการเกตรชำนาญการพิเศษ กรมหม่อนไหม ระบุว่า
“จุดเริ่มต้นของความร่วมมือในการพัฒนาระบบคือเราต้องการให้เกษตรกรได้รู้จักข้อมูลในการวางแผนการผลิตทั้งในแง่ปริมาณและคุณภาพ และอยากให้เขามีฐานข้อมูลทั้งของเกาตรกรหม่อนไหมและผู้ประกอบการ และทราบว่าเอกชนมีความต้องการรับซื้อเส้นไหมจากเกษตรกรในปริมาณเท่าไร เขาจะคำนวณได้ว่าปริมาณที่ผลิตนั้นเพียงพอความต้องการลูกค้าหรือไม่ หากไม่พอก็สามารถรวมกลุ่มกันเพื่อส่งขายได้ อีกทั้งยังช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ต้องการรับซื้อเส้นไหมแต่หาแหล่งผลิตไม่ได้ ในภาพรวมเกษตรกรจะได้รู้จักผู้ประกอบการ ทราบว่าผู้ประกอบการต้องการสินค้าอะไร รู้จักวางแผนการตลาดให้ตรงความต้องการของผู้ประกอบการ ส่วนผู้ประกอบการก็จะรู้ว่าจะซื้อเส้นไหมได้จากที่ไหน จะได้รับคำสั่งซื้อผ้าได้ เพราะแน่ใจได้ว่าหาเส้นไหมมาทอผ้าส่งลูกค้าได้ และซื้อขายกันในราคาไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง”
เห็นได้ว่าแอพฯดังกล่าวถือเป็นจุดเริ่มต้นที่จะพัฒนาเกษตรกรไทยสู่ยุคออนไลน์ ลองคิดดูว่าต่อไปจะดีแค่ไหน ถ้าเราสามารถรู้ได้ว่าพื้นที่ใดปลูกอะไรบ้าง จำนวนเท่าไหร่ น่าจะมีผลผลิตปริมาณเท่าใด ผู้ซื้อ ผู้ขายอยู่ที่ไหนกันบ้าง แต่ปัญหามีอยู่ว่าขณะนี้มีเกษตรกรรับรู้เรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน พื้นที่ที่อยู่ห่างไกลมีโอกาสเข้าใจเทคโนโลยีนี้หรือไม่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำเทคโนโลยีไปใช้มากแค่ไหน เพราะจากรายงานข่าวเพิ่งจะมีการเริ่มใช้ที่กลุ่มเกษตรกรนาอินทรีย์ยโสธรเป็นที่แรกเท่านั้น

อย่างไรก็ตามทั้งนี้หมดใช่ว่าเราจะรอหน่วยงานรัฐเพียงอย่างเดียว หน้าที่การทำให้ฐานข้อมูลออนไลน์นี้เป็นจริงครอบคลุมทั่วประเทศ เป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน ที่ต้องช่วยกันบอกต่อ ถ่ายทอด แบ่งปันความรู้เหล่านี้ให้กับชาวไร่ชาวนาที่อยู่ห่างไกล เราคนไทยต้องช่วยกัน



 ข้อมูลเพิ่มเติม : ผู้สนใจลงทะเบียนสมัครใช้งานได้ที่ 1.www.tamis.in.th 2.โหลดแอพพลิเคชั่นจาก Google Play Store 3.ลงทะเบียนเกษตรกรที่เป็นสมาชิกด้วยบัตรสมาร์ทการ์ด

ติดตาม ProgressTH.org ใน Facebook ที่นี่ และ Twitter ที่นี่