สาวไหมวิถีดั้งเดิม สานฝันชาวสุรินทร์ สร้างรายได้สู่ท้องถิ่นอย่างยั่งยืน

11 ก.ค.2560 -ProgressTH.org-  โดย อภิรดี ตรีรัตน์เกื้อกูล

การเดินหน้าจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์เส้นไหมไทยพื้นบ้านอีสานไม่เพียงแต่สร้างโอกาสทางอาชีพและรายได้ที่ยั่งยืนให้กับกลุ่มแม่บ้านสาวเส้นไหมเท่านั้นแต่ยังเป็นการส่งเสริมอนุรักษ์ศิลปะและภูมิปัญญาพื้นบ้านจากรุ่นสู่รุ่นได้เช่นกัน

 วันนี้ถือเป็นอีกหนึ่งวันที่กลุ่มแม่บ้านสาวเส้นไหมไทยพื้นบ้านอีสาน ตำบลบ้านสระ อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์มารวมตัวกันเพื่อทำกิจกรรมสาวไหม นางอ่อนโยน มุ่งสุข วัย 55 ปีกำลังต้มรังไหม เพื่อสาวเส้นไหมสีเหลืองทองอย่างเบามือลงกระบุง ไหมเส้นละเอียดอ่อนนุ่มจากรังไหมแต่ละรัง หากนำมาวัดจะมีความยาวเท่ากับระยะทาง 200-350 เมตรต่อรังทีเดียว ดังนั้นการสาวไหมลงกระบุงแต่ละครั้งต้องอาศัยความชำนาญและความอดทนอย่างสูง บางครั้งใช้เวลาหลายวันกว่าจะเสร็จสิ้นกระบวนการสาวไหม


แม่บ้านบางส่วนกำลังช่วยกันตีเกลียวเส้นไหมดิบหลังจากสาวเส้นเสร็จแล้ว กรอเส้นไหมที่ตีเกลียวแล้วเข้าเหล่งซึ่งเป็น อุปกรณ์พื้นบ้านที่ใช้ในการทำใจไหม ก่อนนำไปบรรจุหีบห่อเพื่อจำหน่ายเป็นผลิตภัณฑ์ “เส้นไหมไทยพื้นบ้านอีสาน” ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ นอกจากนี้หากผู้ผลิตผ้าไหมนำเส้นไหมไทยพื้นบ้านอีสานไปทอตามภูมิปัญญาการทอผ้าแบบดั้งเดิมของไทยโดยใช้กี่กระทบสามารถขอการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ผ้าไหมตรานกยูงพระราชทานสีทองจากกรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้

กระบวนการผลิตเส้นไหมไทยพื้นบ้านอีสาน ไหมชุมชนจัดเป็นวิสาหกิจชุมชนครบวงจร เพราะกิจกรรมทุกอย่างในกระบวนการผลิตจะเบ็ดเสร็จอยู่ในชุมชน ตั้งแต่สายพันธุ์ไหมดั้งเดิมที่สืบทอดกันมา การปลูกหม่อนที่จะมาเป็นอาหารเลี้ยงหนอนไหม จนกระทั่งได้รังไหมที่พร้อมจะสาว จากนั้นก็สาวเป็นเส้นไหมและนำมาทอผ้า นี่เป็นกระบวนการทอผ้าไหมที่มีในชุมชนมาเนิ่นนาน มีความละเอียดอ่อน และต้องอาศัยทักษะและความชำนาญกว่าจะได้เส้นไหมที่สวยงามเพื่อนำไปถักทอ อย่างไรก็ตามผลตอบแทนต่อ เส้นไหม 1 กิโลกรัมถือว่าคุ้มค่า เพราะมีราคาสูงถึง 3,000 บาทในปัจจุบัน จากเมื่อก่อนที่กลุ่มแม่บ้านบ้านสระสามารถขายเส้นไหมได้มากสุดเพียงประมาณ 2,200 บาทต่อกิโลกรัมเท่านั้น ราคาที่สูงขึ้นเป็นผลจากการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เส้นไหมไทยพื้นบ้านอีสานโดยกรมทรัพย์สินทางปัญญาเมื่อเร็ว ๆ นี้

กลุ่มแม่บ้านทอผ้าไหมบ้านสระ เป็นกลุ่มแม่บ้าน1 ใน 11 กลุ่มแรกของไทยที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ในฐานะ “เส้นไหมไทยพื้นบ้านอีสาน” นับเป็นการยกระดับภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ไปอีกขั้นในระดับชาติ ความสำเร็จครั้งนี้ ทางกลุ่มได้รับการสนับสนุนจากโครงการส่งเสริมท้องถิ่น ขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ร่วมกับ กรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์



ความโดดเด่นของเส้นไหมไทยพื้นบ้านอีสานที่ได้รับการขึ้นทะเบียน GI คือกระบวนการผลิต หากพูดถึงคุณภาพของเส้นไหมไทยพื้นบ้านอีสาน เนื่องจากลักษณะของเส้นที่มีสีและขนาดสม่ำเสมอ เอกลักษณ์ของวิธีการสาวไหมที่นี่คือ การควบคุมจำนวนรังไหมที่นำมาต้มให้มีจำนวน 80-100 รังตลอดการสาวไหม และต้องสาวด้วยมือลงภาชนะเท่านั้นเพราะจะทำให้เส้นไหมที่มีความยืดหยุ่นของเส้นไหมมากกว่าการสาวไหมโดยใช้เครื่อง คุณกินรี แรกเจริญ เจ้าหน้าที่ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ สุรินทร์ ฝ่ายส่งเสริมและดูแลการผลิตเส้นไหมให้ได้คุณภาพตามระบบ GI กล่าว

คุณกินรีเล่าเพิ่มเติมว่า ไหมเส้นเล็ก หรือที่เรียกกันว่า “ไหมน้อย” เมื่อนำไปทอผ้าจะได้ผ้าที่มีความพลิ้วไหว สวยงาม ใบหม่อนที่ใช้สำหรับเลี้ยงหนอนไหม ต้องปลูกหม่อนถูกต้องตามหลักวิชาการ เช่น ไม่ใช้ปุ๋ยเคมีและไม่ปลูกใกล้คอกเลี้ยงสัตว์ เพื่อไม่ให้เกิดการเจือปน และนำใบหม่อนที่เหมาะสมมาเลี้ยงหนอนไหม

การขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI นับเป็นระบบที่หลายประเทศนำมาใช้เพื่อเป็นนโยบายปกป้องสินค้าและผลผลิตทางการเกษตรทั้งในระดับประเทศและในระดับนานาชาติ สินค้าที่ได้รับการขึ้นทะเบียน GI เป็นสินค้าที่มีลักษณะเฉพาะแตกต่างจากสินค้าเดียวกันซึ่งผลิตในพื้นที่อื่น มีเอกลักษณ์โดดเด่นที่สามารถเชื่อมโยงกับแหล่งภูมิศาสตร์ คือ สภาพดิน น้ำ และอากาศ ในพื้นที่ซึ่งผลิตสินค้า GI นั้นได้ ปัจจัยทางธรรมชาติและปัจจัยจากมนุษย์มีส่วนสำคัญที่ส่งผลต่อคุณภาพการผลิต การขึ้นทะเบียน GI ยังเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ผลิตรายย่อยให้สินค้าทางการเกษตรได้รับการป้องกันไม่ให้ถูกลอกเลียนแบบ นำไปสู่การสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้กับชุมชน



“การขึ้นทะเบียนสิ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ช่วยเพิ่มความมั่นคงทางรายได้ให้กับชุมชนของเรา ไม่ใช่เพียงแต่เฉพาะกลุ่มแม่ ๆ ป้า ๆ เท่านั้น แต่รวมถึงคนรุ่นใหม่ ๆ ให้รู้จักสร้างรายได้ ส่งเสริมอาชีพในชุมชน รวมทั้งเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาพื้นบ้านด้านการเลี้ยงไหม และการทอผ้าไหม ให้ส่งต่อไปยังคนรุ่นหลังได้อย่างยั่งยืน” จิรา รสพูน หัวหน้ากลุ่มแม่บ้านทอไหมบ้านสระกล่าว

ในวัย 35 ปี คุณจิราถือเป็นคนรุ่นใหม่ของบ้านสระ หลังจากจบการศึกษาในจังหวัด เธอเลือกที่จะมุ่งหน้าเข้าเมืองหลวงเช่นเดียวกับคนหนุ่มสาวจากต่างจังหวัดส่วนใหญ่เพื่อทำงานในโรงงานอาหารแปรรูปแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรปราการ ครั้งนั้นเธอหวังว่าเงินเดือนที่ได้รับจะสามารถช่วยให้เธอดูแลตัวเองและครอบครัวได้โดยไม่ต้องลำบากทำนาหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดินเหมือนกับรุ่นพ่อแม่ แต่ความเป็นจริงคือตลอดระยะเวลากว่าสิบปีที่จิราใช้ชีวิตสาวโรงงาน เธอกลับไม่มีเงินเก็บเลย รายได้เธอกับสามีรวมกันแค่พอใช้เดือนชนเดือนเท่านั้น แม้จะเคยพยายามผ่อนรถกับสามี แต่ก็ถูกยึดรถถึงสองครั้งสองหน เมื่ออยู่ไปไม่มีอะไรดีขึ้น จิราและสามีจึงตัดสินใจกลับบ้านเกิด

 เมื่อไม่มีอาชีพก็ไม่มีรายได้ แต่พอพิจารณาทุกสิ่งรอบบ้านแล้วไม่มีทางเลือกมากนัก สิ่งเดียวที่จิราพอจะมองเห็นเป็นอาชีพสร้างรายได้คือ การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ตามรอยวิถีชีวิตบรรพบุรุษเชื้อสายเขมร



ภูมิปัญญาชาวบ้านสร้างความมั่นคงทางรายได้และอาชีพสู่ชุมชน

 จิรายอมรับว่าไม่เคยมีความรู้เรื่องไหมมาก่อนเลย แม้จะโตมากับวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม เนื่องจากเป็นลูกสาวคนเล็กของบ้าน แม่ไม่ค่อยบังคับเคี่ยวเข็ญให้เรียนรู้วิธีการทอผ้าไหม และเธอไม่เคยสนใจเรียนรู้ จนกระทั่งกลับบ้าน เมื่อปี 2553 คราวนี้เธอขอให้คุณแม่ช่วยสอนเธอเลี้ยงไหมสาวไหมเพื่อหารายได้จุนเจือครอบครัว ช่วงแรก ๆ จิราสามารถมีรายได้ประมาณ 2,000 - 3,000 บาทต่อเดือนจากการขายดักแด้ไหมที่เหลือจากการต้มและลอกเส้นไหมออกจากรังหมดแล้วเพื่อส่งขายตลาด จากนั้นจึงค่อย ๆ เรียนรู้สร้างอาชีพจากไหมไปทีละขั้นตามลำดับ มาเป็นการต้มรังไหม สาวไหม ตีเกลียว ไปถึงส่วนที่สำคัญและยากที่สุดคือการทอผ้าไหม ซึ่งเธอยอมรับว่าใช้เวลาถึงสามปีกว่าจะเรียนรู้กระบวนการจากแม่ ๆ ในชุมชนครบทุกขั้นตอน

ความจนไม่ใช่อุปสรรคในการเรียนรู้สร้างอาชีพและรายได้ จิราพยามเข้าร่วมอบรมทุกอย่างที่เกี่ยวกับไหม ในพื้นที่ เพื่อเพิ่มพูนทักษะและพิสูจน์ให้ทุกคนในครอบครัวเห็นว่าตนเองสามารถเอาดีกับอาชีพที่คนรุ่นใหม่ในพื้นที่เคยหันหลังให้ จิราได้รับรางวัลสาวไหมชนะเลิศในงานประกวดสาวไหมของจังหวัดในปี 2555 เมื่อชนะเลิศเธอก็ได้มีโอกาสเข้าร่วมทั้งฝึกอบรม และเป็นวิทยากรให้ความรู้เกี่ยวกับการสาวไหมในจังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่บ่อยครั้ง รายได้ก็เพิ่มสูงขึ้นเฉลี่ยเป็น 4,000-5,000 บาท ต่อเดือน แม้ว่าจะรายได้จำนวนไม่มาก แต่เธอสามารถอยู่ได้อย่างสบาย ๆ เพราะ ไม่ต้องเสียเงินเช่าบ้าน ไม่ต้องซื้อข้าวกิน ทุกอย่างหาได้จากสวนหลังบ้าน และข้าวก็ปลูกเองแบบปลอดสารเคมี


อาชีพที่ถ่ายทอดจากภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ และชีวิตแบบพอเพียงในชุมชนบ้านเกิดทำให้วันนี้จิราปลอดหนี้ มีเงินเก็บสะสมเพิ่มขึ้นทีละเล็กละน้อยเพื่อเป็นทุนการศึกษาของลูก ๆ และยังพอมีทุนสังคมไว้ทำบุญทั้งงานแต่ง งานบวช งานบุญประจำปีของชุมชนโดยไม่ต้องไปหยิบยืมใคร

ประสบการณ์เกือบสิบปีที่ทำงานโรงงานก็มีส่วนไม่น้อยที่ช่วยให้จิราผลักดันคุณภาพผลิตภัณฑ์เส้นไหมจากชุมชนบ้านสระ ให้เป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงในวงกว้างจนได้รับขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์เป็นผลสำเร็จเป็นเจ้าแรก จิราเล่าว่าเจ้าหน้าที่ ศูนย์หม่อนไหมสุรินทร์ลงพื้นที่มาพบปะพูดคุยกับชาวบ้านเพื่อนำเสนอแนวทางขึ้นทะเบียน GI เส้นไหมพื้นบ้านอีสานเพื่อสร้างความมั่นคงทางรายได้และอาชีพ และตนเห็นว่าเป็นเรื่องน่าสนใจ เมื่อคิดว่าตนสามารถนำความรู้จากการดูแลขั้นตอนการผลิตสมัยทำงานโรงงานมาประยุกต์ใช้กับขั้นตอนการผลิตเส้นไหมได้ ตนจึงตัดสินใจทำงานในฐานะหัวหน้ากลุ่มแม่บ้านผลิตเส้นไหมของบ้านสระอย่างจริงจัง ตั้งแต่การควบคุมการปลูกหม่อน เลี้ยงไหมด้วยวิธีธรรมชาติ ปลอดสารเคมี กระบวนการผลิตเส้นไหม สาวไหม การตีเกลียวไหม และการเก็บรักษาเส้นไหม เพื่อควบคุมคุณภาพให้เป็นไปตามข้อกำหนดของการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ มีระบบรหัสเพื่อสามารถตรวจสอบผลิตภัณฑ์แต่ละรุ่นจากสมาชิกแต่ละคนได้อย่างชัดเจน

ปัจจุบันมีแม่บ้านจำนวนประมาณ 40 คน อายุตั้งแต่ 30 ต้น ๆ ไปจนถึง วัยเกษียณ เข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มแม่บ้านผลิตเส้นไหมบ้านสระ แม้ว่ากระบวนการผลิตจะมีความละเอียด พิถีพิถัน ต้องใช้ความอดทนทำงานหนักของแรงงานสตรีหลายกลุ่มอายุ เพื่อผลิตเส้นไหม GI ให้ได้ประมาณ 3-4 กิโลกรัมต่อคน ต่อเดือน ในขณะที่สมาชิกส่วนใหญ่ยังต้องแบ่งเวลาไปทำนาด้วย ผลผลิตเส้นไหม GI บ้านสระ คุณภาพสูงเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก และผลิตแทบไม่เพียงพอต่อความต้องการเลยก็ว่าได้ มีผู้รับซื้อให้ราคาสูงที่กิโลกรัมละ 3,000 บาททีเดียว จากแต่ก่อนที่เคยได้ราคามากสุดเฉลี่ยประมาณ 2,000-2,200 บาทเท่านั้น

 “ผ้าไหมทอมือคืองานศิลปะ ขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละบุคคล บางผืนขายได้เป็นหลักล้านบาทก็มี ศิลปะบนผืนผ้าที่ประเมินค่าไม่ได้เหล่านี้จะไม่อาจเกิดขึ้นได้เลยหากขาดเส้นไหมคุณภาพดีมาเป็นจุดเริ่มต้นของการทอ” นางจิรากล่าว


 ผลผลิตทุกอย่างจากไหมล้วนนำมาสร้างรายได้ให้กับกลุ่มแม่บ้านได้ทั้งสิ้น ตัวไหมหรือดักแด้ที่ลอกเส้นไหมหมดแล้ว จะมีแม่ค้ามารับไปขายตลาดในราคา 150 บาทต่อกิโลกรัม มีโปรตีนสูงนำมารับประทานได้ สารเซริซีนสีเหลืองทองที่เป็นองค์ประกอบของเส้นไหม ต้องได้รับการสกัดออกก่อนนำเส้นไหมสีขาวไปถักทอ และมัดย้อม สารสกัดเซริซินสามารถนำมาเป็นส่วนผสมในการทำเป็นสบู่ โลชั่น เครื่องสำอางเป็นผลิตภัณฑ์โอท็อปคุณภาพดีราคาไม่แพง มีงานวิชาการทางวิทยาศาสตร์รองรับว่า สารเซริซีนมีคุณสมบัติช่วยลดริ้วรอยได้

“ภูมิใจที่อาชีพทอเส้นไหม ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่ถ่ายทอดมาถึงแม่มาถึงตนเองทำให้เรามีคุณค่า มีความสามารถสร้างรายได้ให้ตนเองโดยไม่ต้องรบกวนลูกหลาน” นางธันยวรรณ เงิดกระโทก สมาชิกกลุ่มแม่บ้านทอไหมบ้านสระกล่าว

คุณธันยวรรณกล่าวว่า ช่วงที่ครอบครัวเดือนร้อนทางการเงินถึงขีดสุด ก็ได้ผ้าไหมที่ตนทอนำไปเปลี่ยนเป็นเงินส่งเสียลูกหลานเรียนหนังสือ ทุกวันนี้ลูก ๆ เรียนจบทำงานกันหมดแล้ว ไม่ต้องแบกรับภาระการเรียนของลูก ๆ แต่ตนก็ยังไม่ทิ้งอาชีพนี้ และตั้งใจจะทำต่อไปจนกว่าจะไม่มีแรง

 ปฏิเสธไม่ได้ว่างานปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ทอผ้าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตจิรา คุณป้าอ่อนโยน คุณป้าธันยวรรณและสมาชิกของกลุ่มทอไหมบ้านสระ สร้างรายได้โดยเฉลี่ยราว 10,000-15,000 บาทต่อคนต่อเดือนในปัจจุบัน แม้เงินส่วนนี้จะไม่ใช่รายได้ก้อนใหญ่โต แต่เพียงพอที่จะนำมาใช้จ่ายในครอบครัว ซื้อเสื้อผ้า รองเท้า อุปกรณ์อำนวยความสะดวกไว้ใช้ ออกไปทานอาหารนอกบ้านในโอกาสพิเศษต่าง ๆ กับครอบครัว และยังพอมีเก็บไว้สำหรับงานบุญ ทำนุบำรุง ศาสนาและชุมชนของตนเองได้



ไหมไทยกับโอกาสทางการตลาดในเวทีนานาชาติ 

การส่งออกผ้าไหมไทยมีมูลค่าราว 600 ล้านบาทเมื่อปี 2555 และมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ผ้าไหมทอมือ ที่กำลังได้รับความนิยมในตลาดต่างประเทศ เช่นสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น อิตาลี อังกฤษ และฝรั่งเศส รวมทั้งประเทศในกลุ่มตะวันออกกลางอย่างโอมาน ที่ให้ความสนใจนำผ้าไหมไทยไปใช้เพื่อการตกแต่งบ้าน

 อย่างไรก็ตาม หากรวมอุตสาหกรรมไหม ทั้งการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และอุตสาหกรรมสิ่งทอจากไหม จะมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นถึง 6 พันล้านบาทต่อปีทีเดียว แม้ว่าความต้องการผลิตภัณฑ์ไหมไทยจะเพิ่มสูงขึ้น แต่การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม กลับลดลงอย่างมีนัยสำคัญเช่นเดียวกับวิถีเกษตรอื่น ๆ ของประเทศ พื้นที่ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเคยมีสูงถึง 400,000 ไร่ มีคนทำไหมทั่วไป ปัจจุบันเหลือเพียงราว 100,000 ไร่ คนทำไหมปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 150,000 ครัวเรือน ส่วนใหญ่อยู่ในบริเวณ 20 จังหวัดภาคอีสานของไทย เนื่องจากพันธุ์ไหมไทยพื้นบ้านมีรังขนาดเล็ก และความยาวของเส้นใยไม่มากเท่ากับพันธุ์ไหมต่างประเทศ เครื่องสาวอัตโนมัติของต่างประเทศจะใช้กับไหมไทยไม่ได้เลย ก็ต้องสาวด้วยมือเป็นหลัก ส่งผลให้ได้เส้นไหมที่มีขนาดไม่สม่ำเสมอ แต่ลายมัดหมี่จะช่วยบดบังตำหนิผ้าได้อย่างดี

คุณกินรีกล่าวว่ากรมหม่อนไหมกำลังอยู่ในกระบวนการตรวจสอบและคัดกรองคุณภาพของเส้นไหมพื้นบ้านอีสานในอีกหลายพื้นที่ในจังหวัดทางภาคอีสาน โดยเฉพาะจังหวัด สุรินทร์ บุรีรัมย์ นครราชสีมา ขอนแก่น มหาสารคาม เพื่อเป็นการสนับสนุนความมั่นคงทางอาชีพและรายได้อย่างยั่งยืนในชุมชนจากการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และเพื่อเป็นการอนุรักษ์การผลิตเส้นไหมไทยพื้นบ้านอีสานต่อไป


อาทร แสงสมวงศ์ นายกสมาคมไหมไทยพื้นบ้านอีสานกล่าวว่า บางคนมองว่าจุดอ่อนของไหมไทยคือสาวมือ เพราะทำให้ควบคุมมาตรฐานลำบาก อย่างไรก็ตามการทำระบบควบคุมภายในของกลุ่ม ซึ่งเป็นข้อกำหนดในการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ช่วยแก้ปัญหาในเรื่องมาตรฐานของเส้นไหมได้ เนื่องจากสมาชิกในกลุ่มจะช่วยควบคุมขบวนการผลิตในแต่ละขั้นตอนอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้สมาชิกในกลุ่มยังสามารถปรับระบบการผลิต ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ซื้อได้ตลอดเวลา ถึงแม้ว่ากลุ่มผู้ซื้อจะเป็นกลุ่มเล็กๆ ก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่ในการที่เราจะปรับตัวผลิตเส้นไหมไทยพื้นบ้านอีสานตอบโจทย์ตลาดขนาดเล็กเฉพาะกลุ่ม หรือ Niche Market ทั้งในและต่างประเทศ

นายกสมาคมผู้ผลิตเส้นไหมไทยพื้นบ้านอีสานยังมีแนวคิดในการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้การผลิตเส้นไหมไทยพื้นบ้านอีสาน เพื่อให้เด็ก ๆ รุ่นใหม่ได้ศึกษาเรียนรู้ และเพื่อเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาชาวบ้านให้คงอยู่และส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนเชิงอนุรักษ์

“เมื่อไหมไทยไม่ได้ถูกผลิตขึ้นมาตามมาตรฐานสากลต่างๆตั้งแต่แรก ฉะนั้นก็หลีกเลี่ยงการเอามาตรฐานเหล่านั้นมาวัดคุณค่า ลองมามองความพึงพอใจของผู้ซื้อเฉพาะกลุ่มที่วัดกันที่ดีไซน์และการใช้งาน บวกกับคุณค่าทางจิตใจ ลองมาพิสูจน์ดูว่า ไหมไทย แท้ๆสามารถทำตลาดสากลได้อย่างที่ตัวเป็นหรือไม่ และเราพร้อมแล้วที่จะลงมือทำให้ดียิ่งขึ้นเพราะโอกาสมาถึงแล้ว” นายกสมาคมฯกล่าว

ข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ www.fao.org
 กรมหม่อนไหม www.qsds.go.th
กรมทรัพย์สินทางปัญญา www.ipthailand.go.th
สมาคมไหมไทยพื้นบ้านอีสาน จังหวัดสุรินทร์ 044 511 348