ม.เทคโนโลยีสุรนารี ผลักดันหลักสูตร "เปลี่ยนกระบวนทัศน์ + สหวิชาชีพ" สร้างบัณฑิตสุขภาพตอบโจทย์ปัญหาสาธารณสุขชาติ

นครราชสีมา - ProgressTH.orgมูลนิธิพัฒนาการศึกษาบุคลากรสุขภาพแห่งชาติ (ศสช.) เร่งพัฒนาการศึกษาของบุคลากรระบบสุขภาพของประเทศอย่างต่อเนื่อง ด้วยการผลักดันการเรียนการสอนแบบ “เรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง” (Transfomative Learming) ด้วยการใช้ชุมชนเป็นฐานให้เกิดขึ้นทั่วทุกภูมิภาค ล่าสุดได้ปักหมุดที่ภาคอีสานตอนล่าง หนุนผนึกหลักสูตรสหวิชาชีพ (Interprofessional Education : IPE) และ การเปลี่ยนกระบวนทัศน์ภายใน (Mindset) เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนร่วมกันและปรับพฤติกรรมและทัศนคติให้เป็นแพทย์เพื่อประชาชนอย่างแท้จริง โดยมีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) เป็นมหาวิทยาลัยต้นแบบ 

เมื่อเร็วๆนี้ ศสช. ร่วมกับ สำนักวิชาแพทยศาสตร์ และสำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ มทส. ทันตแพทยสภา เครือข่ายระบบสุขภาพ “นครชัยบุรินทร์” (ประกอบไปด้วย นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์) ได้จัดงานสัมมนา “เติมใจให้กัน...สานฝันเครือข่ายระบบสุขภาพนครชัยบุรินทร์” ภายใต้กิจกรรมเชื่อมสถาบัน สานเครือข่าย DHS Academy สู่ศตวรรษที่ 21 ในโครงการพัฒนาการศึกษาบุคลากรสุขภาพในศตวรรษที่ 21 เพื่อสรุปบทเรียนการนำหลักสูตรการเรียนการสอนแบบ IPE และ Mindset มาปรับใช้กับนักศึกษาระบบสุขภาพ โดยพบว่าหลังจากที่ได้มีการเรียนทั้งหมด 6 รุ่น พบว่าบัณฑิตแพทย์ มทส.กว่าร้อยละ 90 กลับไปทำงานในท้องถิ่นและใช้ทุนครบตามกำหนดและมีความสุขในการทำงานในพื้นที่ชุมชนมากขึ้น 

ทั้งนี้การเรียนแบบสหวิชาชีพ (IPE) คือ การเรียนร่วมกันระหว่างนักศึกษาด้านสุขภาพและสาขาที่เกี่ยวข้อง เช่น แพทย์ พยาบาล เภสัชศาสตร์ สหเวชศาสตร์ กายภาพบำบัด ฯลฯ เพื่อสร้างสัมพันธ์ที่ดีในการทำงานเป็นทีม และยังลดความขัดแย้งระหว่างวิชาชีพ ขณะที่ การเรียนการสอนเรื่องการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ภายใน (Mindset) คือ การส่งเสริมให้นักศึกษาระบบสุขภาพลงพื้นที่ชุมชนเรียนรู้จิตใจของตนเองและผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ป่วยและญาติ เพื่อให้นักศึกษาเข้าใจบริบทสังคม โดยมีมหาวิทยาลัยที่นำไปปรับใช้ในการเรียนการสอนแล้ว ได้แก่ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และมหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นต้น 


บรรยากาศงาน “เติมใจให้กัน.. สานฝันเครือข่ายระบบสุขภาพนครชัยบุรินทร์” ภายใต้กิจกรรมเชื่อมสถาบัน สานเครือข่าย DHS Academy สู่ศตวรรษที่ 21”



อยากผลิตแพทย์ที่มีความสุขในการทำงานในพื้นที่ทุรกันดาร

ศ.นพ. สุกิจ พันธุ์พิมานมาศ คณบดีสำนักวิชาแพทยศาสตร์ มทส. 
 ศ.นพ. สุกิจ พันธุ์พิมานมาศ คณบดีสำนักวิชาแพทยศาสตร์ มทส. กล่าวว่า เป้าหมายหลักของการจัดตั้งสำนักแพทยศาสตร์ มทส. เพื่อแก้ไขปัญหาปริมาณแพทย์ในเขตชนบทไม่เพียงพอต่อความต้องการ รวมถึงอัตราบัณฑิตแพทย์กลับไปทำงานยังถิ่นบ้านเกิดลดจำนวนลง และทำงานในพื้นที่ทุรกันดารไม่ได้นาน จนกลายเป็นปัญหาขาดแคลนแพทย์ระดับประเทศ ที่แม้อาศัยระยะเวลาเป็น 10 ปี ก็ยังไม่สามารถแก้ไขได้ ทั้งนี้ มทส. ต้องการผลิตบัณฑิตแพทย์และทันตแพทย์เลือดใหม่ ให้สามารถทำงานอย่างมีความสุขในทุกพื้นที่แม้ในถิ่นทุรกันดาร พร้อมเปลี่ยนตัวเองเป็นผู้นำชุมชนดูแลสุขภาพชาวบ้านแบบองค์รวม ตอบโจทย์ปัญหาสาธารณสุขระดับประเทศ 

ทางสำนักแพทยศาสตร์ มทส. จึงริเริ่มนำกระบวนการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง ในส่วนของ Mindset และ IPE มาประยุกต์ใช้ในการเตรียมบุคลากรและปฏิรูปการสอนแก่บัณฑิตแพทย์ โดยกระบวนการดังกล่าวทางสำนักวิชาแพทย์ฯ เริ่มใช้กับนักศึกษาตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 จนถึงปีที่ 6 เน้นให้ว่าที่บัณฑิตแพทย์เกิดการพัฒนาตนเองผ่านวิชาจิตปัญญาศึกษา วิชาชนบทศึกษา และฝึกงานกับเครือข่ายระบบสุขภาพ “นครชัยบุรินทร์” ที่ให้นักศึกษาเรียนรู้จากสถานที่จริงควบคู่ไปกับการเรียนรู้ด้านวิชาการ

 “สิ่งสำคัญในการสร้างแพทย์ที่สามารถตอบโจทย์ปัญหาของประเทศ คือการเปลี่ยน Mindset จากข้างในของตัวนักศึกษา ว่าจะทำอย่างไรให้เขาจบออกไปแล้วสามารถทำงาน ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ชนบทหรือแม้แต่ในเขตเมืองได้อย่างมีความสุข คิดถึงคนไข้ คิดถึงส่วนรวม คิดถึงความเป็นทีมมากกว่าการเดินนำหน้าคนเดียว พร้อมนำความรู้ที่มีมาปรับใช้แก้ปัญหาได้ และกลายเป็นผู้นำชุมชนในการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม ซึ่งเป็นระยะเวลา 6 ปี ที่ทางสำนักแพทย์ฯ ได้ทดลองปรับเปลี่ยนการด้วยวิธีผสมกับหลักสูตรสหวิชาชีพ เพื่อเรียนรู้ซึ่งกันและกัน พบว่า เจตคติของบัณฑิตแพทย์และทันตแพทย์เปลี่ยนไป เกินกว่าร้อยละ 90 จบการศึกษาแล้วกลับไปทำงานยังท้องถิ่น พร้อมใช้ทุนรัฐบาลจนครบเวลาโดยไม่หลีกเลี่ยง” ศ.นพ. สุกิจ กล่าว 

สร้างนักศึกษาแพทย์มีความเป็นมนุษย์คิดถึงประโยชน์คนไข้

ผศ.ทพญ. ยุพิน ส่งไพศาล คณบดีสำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ มทส. กล่าวว่า การเรียนการสอนที่ให้นักศึกษาเปลี่ยนกระบวนทัศน์จากภายใน (Mindset) เพราะทันตแพทย์เองต้องมีความเป็นมนุษย์ในการดูแลผู้ป่วย ประสบการณ์ตรงที่นักศึกษาจะได้จากการเรียนรู้ร่วมกันกับนักศึกษาแพทย์โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน หรือเรียนจากสถานการณ์จริงที่เป็นอยู่จากฐานชนบทศึกษา จะทำให้นักศึกษาเกิดทัศนคติ มองเห็นคุณค่าของตัวเอง และปลูกฝังให้นักศึกษาคิดถึงประโยชน์ของคนไข้มากที่สุด นั่นคือความเป็นมนุษย์ที่จะเกิดขึ้นกับทันตแพทย์รุ่นใหม่นับจากนี้ 

ผศ.ทพญ.ยุพิน ส่งไพศาล คณบดีสำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ มทส. 
“งานของทันตแพทย์คือ อุด ถอน ใส่ ก็จะใกล้ช่างพอสมควร เวลาทำงานเลยรู้สึกว่าเราไม่ค่อยสื่อสารกับคนไข้เท่าไร แต่คนไข้กลับอยากสื่อสารกับเราเพราะอยากจะรู้ว่าถ้าป่วยแบบนี้จะรักษาอย่างไร และโรคในช่องปากเป็นโรคที่ป้องกันได้ตั้งแต่ต้น เพราะฉะนั้นถ้าได้คุยกับคนไข้แล้วเข้าใจเขา บอกวิธีดูแลตัวเอง เช่น คนเป็นโรคเบาหวานจะมีความสัมพันธ์กับเหงือกอักเสบ ถ้าบุคลากรด้านสุขภาพช่วยเหลือกัน จะทำให้เบาหวานลดอาการเหงือกอักเสบก็จะลดลง เช่นเดียวกับการดูแลภาวะเหงือกอักเสบให้บรรเทาจะทำให้โรคเบาหวานดีขึ้น จะเห็นได้ว่าการทำงานร่วมกันระหว่างแพทย์ ทันตแพทย์ และสหวิชาชีพ มีมากขึ้นทุกวัน ฉะนั้น สหวิชาชีพจึงเป็นสิ่งสำคัญต่อการทำงานร่วมกันในอนาคต และการสร้างให้นักศึกษาเรียนรู้ร่วมกันตั้งแต่ระดับอุดมศึกษาจะก่อเกิดความใกล้ชิด ความเข้าใจกัน เป็นเพื่อนกัน ซึ่งดีกว่าไปทำงานเป็นเพื่อนกันหลังเรียนจบแล้ว” คณบดีสำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ มทส. กล่าว

 สร้างแพทย์คุณภาพเรียนรู้จากพื้นที่จริง 

นพ.สรรัตน์ เลอมานุวรรัตน์ อาจารย์แพทย์ประจำศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ผู้เชี่ยวชาญในการปรับกระบวนทัศน์ภายในและเน้นเรียนรู้จากสถานที่จริงเพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม กล่าวว่า ปัญหาด้านสาธารณสุขของไทยในปัจจุบันค่อนข้างซับซ้อน และการแก้ไขโดย สธ. มักเน้นการปรับด้านโครงสร้างที่ต้องการกำลังคนด้านสุขภาพจำนวนมาก แต่ในความเป็นจริงแม้ระบบสาธารณสุขต้องการกำลังคน แต่เรื่องคุณภาพก็ต้องมาพร้อมกัน ดังนั้น โรงเรียนแพทย์ที่มีอยู่จำเป็นต้องผลิตบัณฑิตแพทย์โดยเอาปัญหาของประเทศเป็นตัวตั้ง

นพ.สรรัตน์ เลอมานุวรรัตน์ อาจารย์แพทย์ประจำศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก
โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา
“หลักคิดแบบการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง เป็นกุญแจสำคัญในการเรียนรู้ความเป็นคนด้วยใจอย่างใคร่ครวญยั่งยืน และเน้นการเรียนรู้จริงจากพื้นที่จริง มาปรับประยุกต์ใช้ในหลักสูตรการเรียนการสอน ที่จะเปลี่ยนจิตใจและความคิดภายในของตัวนักศึกษา เชื่อว่าหากโรงเรียนแพทย์และสถาบันที่ผลิตบุคลากรด้านสุขภาพในไทย ร่วมกับปฏิรูปการเรียนการสอนเป็นในลักษณะดังกล่าว จะช่วยแก้ไขปัญหาด้านสาธารณสุขของประเทศได้ สิ่งที่เราได้จากการฝังเรื่อง Mindset ให้นักศึกษาแพทย์ คือนักเรียนแพทย์บางคนถึงกับขอเรียนซ้ำชั้น เพราะคิดว่ายังไม่มีความรู้มากพอที่จะไปรักษาชาวบ้าน นับว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงที่เกินความหมาย” นพ.สรรัตน์ กล่าว

สร้างแพทย์ที่เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง

 ผศ.ทพ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ในฐานะกรรมการและเหรัญญิก ศสช. กล่าวว่า เราต้องการผลิตบุคลากรด้านสุขภาพที่มี “หัวใจความเป็นมนุษย์” และเป็น “ผู้นำการเปลี่ยนแปลง” ที่จะเข้าไปเปลี่ยนสังคมโดยเฉพาะในด้านสุขภาพได้ ซึ่งการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ภายใน หรือ Mindset จะเป็นจุดเริ่มสำคัญของการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง ที่ช่วยให้การขับเคลื่อนเพื่อเปลี่ยนแปลงทั้งระบบเป็นไปได้ เพราะ Mindset สามารถสร้างวิสัยทัศน์ที่ถูกต้องให้ผู้บริหารองค์กร และปรับเปลี่ยนแนวคิดการสอนของอาจารย์ผู้สอนจนถึงพฤติกรรมของนักเรียนนักศึกษาด้านสุขภาพ 

 ผศ.ทพ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 
 “การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ภายใน ไม่ได้มุ่งหวังเรื่องความเก่งแบบเดิมที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้ แต่จะเป็นกาเปลี่ยนแปลงระบบความคิดที่ติดตัวคนผู้นั้นไปตลอด ไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็จะเป็นแพทย์เป็นบุคลากรด้านสุขภาพที่เน้นคิดมากกว่าทำตามตำราที่เรียนมา และสามารถทำงานอย่างมีความสุขได้ในทุกสภาพพื้นที่” ผศ.ทพ.วีระศักดิ์ กล่าว 




การลงพื้นที่เป็นการเติมไฟให้จิตวิญญานความเป็นหมอกลับมา 

ขณะที่มุมมองนักศึกษา ที่มีประสบการณ์เรียนเพื่อเปลี่ยนกระบวนทัศน์ภายในและการเรียนแบบสหวิชาชีพ อย่าง นายอรรคพล บุญโนนแต้ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สำนักวิชาแพทยศาสตร์ กล่าวว่า การได้เรียนหลักสูตรที่มีการผสมกันระหว่าง IPE และ Mindset สิ่งที่ได้รับคือ การได้มิตรภาพระหว่างวิชาชีพ เชื่อว่าการเรียนการแบบนี้ช่วยทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการรักษาคนไข้ได้ เพราะทำให้เราเห็นภาพรวม อีกทั้งการลงพื้นที่จริงมันจะได้เห็นปัญหาทางสาธารณสุขจริงๆ ว่าแต่ละพื้นที่ประสบปัญหาแบบไหน ที่สำคัญทำให้เรารู้ว่าแต่ละพื้นที่ระบบทางสาธารณสุขไม่ได้มีความเทียบเท่าเทียมกัน ทำให้เราตระหนักได้ว่าเราควรจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร 
นายอรรคพล บุญโนนแต้ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มทส.

“การเรียนในห้องเรียนใช้พลังในการเรียนมาก บางทีอาจจะหมดกำลังใจในการเรียน แต่พอเราออกชุมชนเหมือนเป็นการเติมไฟให้กับจิตวิญญาณของความอยากเป็นหมอของเรา ทำให้เรามีพลังอีกครั้งเพื่อกลับไปพัฒนาชุมชนที่เขายังห่างไกล ซึ่งพวกเรารอการรักษาของหมอมากๆ” นายอรรคพล กล่าว 





น.ส.รุ่งวรนิษฐา โลหณุต นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ มทส. 
ขณะที่ น.ส.รุ่งวรนิษฐา โลหณุต นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ มทส. กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ไม่เคยคิดว่าจะต้องมาลงชนบท เพราะว่าเราเป็นทันตะฯ แต่พอได้มาเรียนกับแพทย์ ทำให้เราได้เห็นการดูแลผู้ป่วยของแพทย์ที่ไม่ใช่แค่ดูแลร่างกายเท่านั้น แต่ต้องดูแลจิตใจด้วย และสามารถผสมผสานกับความรู้ที่เรามี คือ เราเป็นหมอช่องปาก แต่การได้เรียนรู้ร่วมกันทำให้เรามีความรู้ในด้านเกี่ยวกับทางการแพทย์ด้วย เราก็จะสามารถรู้ถึงความเป็นจริงได้ว่าโรคที่เกิดขึ้นอาจจะไม่ได้มาจากช่องปาก แต่มาจากร่างกายอย่างอื่นเป็นแบบนี้ค่ะ ซึ่งก็สามารถเรียนรู้ได้ และสามารถทำให้เราเข้าใจจิตใจของผู้ป่วยด้วย ไม่ใช่แค่ดูแลช่องปากอย่างเดียว


บรรยากาศงาน “เติมใจให้กัน.. สานฝันเครือข่ายระบบสุขภาพนครชัยบุรินทร์” ภายใต้กิจกรรมเชื่อมสถาบัน สานเครือข่าย DHS Academy สู่ศตวรรษที่ 21”

นักศึกษาคณะแพทย์และทันตแพทย์ มทส. เรียนรู้ร่วมกันในแบบสหวิชาชีพตลอดการศึกษา 6 ปี

นักศึกษาคณะแพทย์และทันตแพทย์ มทส. เรียนรู้ร่วมกันในแบบสหวิชาชีพตลอดการศึกษา 6 ปี

นักศึกษาคณะแพทย์และทันตแพทย์ มทส. เรียนรู้ร่วมกันในแบบสหวิชาชีพตลอดการศึกษา 6 ปี

ติดตาม ProgressTH.org ใน Facebook ที่นี่ และ Twitter ที่นี่