เปิด 4 ทักษะสำคัญในใช้ชีวิตยุค Post Covid19 พร้อมรับมือความไม่แน่นอนแห่ง VUCA world

20 เม.ย. 2565 - การเกิดขึ้นของโรคระบาดโควิด19 ได้นำโลกของเราเข้าสู่ภาวะ VUCA world ที่โลกมีความผันผวน (Volatility) ความไม่แน่นอน (Uncertainty) ความสลับซับซ้อน (Complexity) ความคลุมเครือ (Ambiguity)ซึ่งไม่นับรวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี/นวัตกรรมอย่างพลิกผัน (Disruptive innovation)ที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้านั้น 



จำเป็นอย่างมากที่เราทุกคนต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเองที่จะต้องมีความรู้ความเข้าใจกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นโดยเฉพาะในช่วงโลกยุคหลังโควิด19  เพื่อที่จะสามารถรับมือได้ (Resilient) ได้อย่างมีประสิทธิภาพและอยู่รอดจากภาวะความผกผันไม่แน่นอนเหล่านี้ได้ 

การระบาดครั้งนี้ถือเป็นโศกนาฏกรรมของมนุษย์ครั้งรุนแรงของศตวรรษที่ 21  ที่มีผู้ติดเชื้อทั่วโลกกว่า 500 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตกว่า 6.2  ล้านคน   ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ที่สร้างความช็อคให้กับคนทั่วโลก เพราะแทบไม่เคยมีใครคาดคิดมาก่อนว่าโลกที่กำลังมีความเจริญก้าวหน้าเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยและเกิดใหม่ (Emerging Technology) รอบด้าน จะต้องมาประสบชะตากรรมนี้ที่ยังไม่รู้ว่าจะจบลงเมื่อใด  

อย่างไรก็ตามปรากฎการณ์ช็อคโลกดังกล่าวในอีกด้านก็ได้ก่อให้เกิดคาดหวังถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่จะนำไปเราไปสู่โลกใบใหม่หรือสังคมใหม่ที่ดีขึ้น  โดยต้องมีวิสัยทัศน์ (Vision)เข้ามาเกี่ยวข้องเพื่อที่เราจะได้เห็นภาพตรงกันในอนาคต  ซึ่งเราจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนวิธีการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ให้เข้ากับสถานการณ์ โดยต้องมีทักษะที่สำคัญดังต่อไปนี้เพิ่มขึ้น ได้แก่   

1.ทักษะความรู้เท่าทันเรื่องอนาคต(Future Literacy)  

ต้องเข้าใจว่าคำว่า  Literacy ไม่ได้จำกัดอยู่ที่การหมายถึงอ่านออก เขียนได้เท่านั้น แต่ยังหมาย ความรู้ความเข้าใจ การรู้เท่าทัน  ซึ่งในภาวะแบบนี้ อนาคตไม่ได้แปลว่า "เวลาในอนาคต" อีกต่อไป แต่ อนาคตอยู่ที่หลักการคิด (Mindset)เพราะปัจจุบันโลกเปลี่ยนเร็วมาก การรู้และเข้าใจมีความเท่าทันเรื่องอนาคตจะสามารถทำให้เราเห็นภาพอนาคตที่ดีกว่าเป็นอย่างไร ทำให้เราให้เข้าใจมากขึ้นและเต็มใจที่จะสร้างการเปลี่ยแปลงเพื่อไปให้ถึงจุดนั้น  ซึ่งเรื่องนี้ UNESCO ได้สร้างเครือข่าย Global Futures Literacy Design Forum ไปมากว่า 20 ประเทศ เพื่อสร้างการตระหนักในเรื่องการศึกษาและการเข้าใจภาพอนาคตเพื่อสร้างสังคมที่ดีกว่าเดิม

2. ทักษะการคิดเชิงระบบ (Systems Thinking) 

 เป็นทักษะการคิดเป็นองค์รวมเพื่อที่จะทำให้เราเห็นภาพทั้งระบบและสามารถแตกออกมาเป็นภาพย่อยได้  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเรื่องการบริหารจัดการโควิด 19 นั้น สำคัญอย่างมากที่เราต้องเข้าใจ 3 เรื่องที่เป็นเรื่องของ"ระบบ" ได้แก่ 1. ขอบเขตอำนาจหน้าที่  2. เรื่ององค์ประกอบของเรื่องนั้นๆ และ 3. เรื่องความสัมพันธ์ ว่าเรื่องที่เกิดขึ้นเกี่ยวช้องกับใครอย่างบ้าง ซึ่งขึ้นอยู่กับสถานที่และเวลาที่เกิดขึ้น

การคิดเป็นระบบ เป็นเรื่องการสร้างวิธีคิด (Mindset) ให้เราคิด,สื่อสารและ เรียนรู้เกี่ยวกับระบบ เพื่อที่เราจะสามารถสร้างรูปแบบการสื่อสาร/อธิบายได้ชัดเจน และสร้างผลกระทบ (Impacts)ได้ ด้วยการสร้างความรู้ ความเข้าใจต่อปัญหาที่เราเผชิญ เพื่อที่เราจะสามารถจัดการมันได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยต้องมีการทำความเข้าใจปัจจัยต่างๆ รอบด้านทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น เรื่อง สังคม สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ การเมือง เทคโนโลยี ซึ่งจะให้เห็นกลยุทธ์และได้ยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาที่แหลมคมและตรงจุดมากขึ้น

3.ทักษะของการมีความคาดหวัง/มองไปข้างหน้าถึงสิ่งที่ดีกว่า ( Anticipation) 

 เรื่องนี้อาจจะดูว่าเป็นเรื่องนามธรรม แต่ในเชิงปฏิบัติ “การมีความคาดหวัง” เป็นผลมมาจากทักษะข้อที่ 1 และ 2 รวมกัน โดยเมื่อเข้าใจอนาคตและสามารถมองเห็นภาพผลกระทบต่างๆด้านบวกและลบได้ทั้งระบบ ความรู้สึกดังกล่าได้บ่มเพาะ “การมีความคาดหวัง” อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีเกิดขึ้น เป็นเสมือนจุดเริ่มต้นของการมีวิสัยทัศน์ที่เราอยากเห็นสังคมที่ดีกว่าเดิม ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องฝึกให้เป็นนิสัย ซึ่งจะทำให้เรามีสัญชาตญาณการในการเตรียมพร้อม/รับมือ การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้อย่างมียุทธศาสตร์และรวดเร็วมากขึ้น ซึ่งบางครั้งเราสามารถเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสได้ 

4. ทักษะการมองการณ์ไกลเชิงกลยุทธ์ (Strategic foresight) 

เป็นการทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นโดยใช้ทั้ง 3 ทักษะข้างต้นรวมกัน และเมื่อถึงเวลาที่เราต้องตัดสินใจ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะการเปลี่ยนแปลง/ความไม่แน่นอน ที่เกิดขึ้น เราต้องสร้าง/หาทางเลือก เพื่อที่จะต้องตัดสินใจว่าจะเดินไปทางไหน จะต้องทำอะไรบ้าง ซึ่งการตัดสินใจดังกล่าวมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

เพราะฉะนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องฝึกมองเรื่องต่างๆในระยะยาวและมีแบบแผนรองรับ ถือเป็นความท้าทายของทุกคน โดยเฉพาะผู้กำหนดนโยบายที่จะใช้สิ่งที่เกิดขึ้นตรงมาสร้างความได้เปรียบและใช้ประโยชน์ให้เกิดได้อย่างไรบ้าง  ซึ่งทั้งหมดเหล่านี้ต้องเริ่มจากการทำความเข้าใจเรื่องการเปลี่ยนแปลง และความต้องการที่จะแก้ปัญหาต่างๆให้ดีขึ้น ซึ่งเมื่อเราเข้าใจปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ได้อย่างมีระบบก็จะสามารถทำให้เราสร้างทางเลือกได้มากขึ้น  

ทั้งนี้ทักษะทั้ง 4 ข้อ ไม่สามารถฝึกกันได้แค่ชั่วข้ามคืน  เพราะนี่เป็นทักษะที่ต้องเรียนรู้และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ตลอดชีวิต  อย่างไรก็ตามเราสามารถฝึกได้ โดยเฉพาะการฝึกตั้งแต่วัยเด็ก ซึ่งสามารถนำหลักสูตร  STEAM Design Thinking Process  ซึ่งเป็นการบูรณาการการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 มาใส่ในหลักสูตรการเรียนรู้เด็กๆได้  เพราะการเรียนดังกล่าว ได้เน้นให้เด็กลงมือทำ แก้ปัญหาเป็น  โดยกระบวนการ STEAM Design Process มีทั้งหมด 5 ขั้นตอน ดังนี้

1,การตั้งคำถาม (Ask)  การทำความเข้าใจบริบทของปัญหาหรือความท้าทาย การค้นคว้าเพื่อศึกษาข้อเท็จจริง และการสอบถามจากผู้เชี่ยวชาญเพื่อรวบรวมข้อมูลซึ่งจะถูกนำมาใช้ในการวิเคราะห์ถึงสาเหตุ และผลกระทบของปัญหา

2.การจินตนาการ (Imagine) การระดมแนวคิด และไอเดียเพื่อการออกแบบหรือกำหนดรูปแบบ และวิธีที่จะใช้ในการแก้ไขปัญหา พร้อมทั้งวิเคราะห์เพื่อประเมินความเป็นไปได้ และผลที่จะเกิดขึ้นจากนำไอเดียดังกล่าวมาใช้ในการแก้ไขปัญหา

3.การวางแผน (Plan) โดยมีการกำหนดเป้าหมาย องค์ประกอบ และลำดับขั้นตอนของการสร้างชิ้นงาน/การแก้ปัญหา โดยมีรายละเอียดของวิธีการอย่างชัดเจนโดยคำนึงถึงทรัพยากร เครื่องมือ ระยะเวลาที่ต้องใช้ในการดำเนินการ ข้อจำกัด และเงื่อนไขอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

4.การลงมือปฏิบัติ  (Create)  การลงมือทำเพื่อสร้างสรรค์งานในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งจะถูกนำไปใช้ในการแก้ไขหรือเพื่อการนำเสนอความคิดในการแก้ไขปัญหา 

5.การสะท้อนความคิด ( Reflect & Redesign) การนำผลจากการใช้งานมาคิดทบทวน และไตร่ตรองเพื่อสะท้อนถึงสิ่งที่ได้ทำมา ปัญหา อุปสรรคและข้อจำกัดที่เกิดขึ้นระหว่างการดำเนินงาน การรับฟังข้อติชมหรือข้อเสนอแนะจากผู้อื่น เพื่อนำมาใช้ในการปรับปรุงและพัฒนาชิ้นงานหรือวิธีการให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น   

การฝึกในกระบวนการคิดดังกล่าวจะช่วยให้เกิดการคิดวิเคราะห์/วิพากษ์  (Critical Thinking) การคิดสร้างสรรค์( Creativity)  การลงมือปฏิบัติและการเปิดใจกว้างเพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ดีขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้ หากได้รับการส่งเสริม/ปลูกฝังอย่างจริง ก็จะเป็นกุญแจสำคัญเปลี่ยน  VUCA World  (Volatility - Uncertain- Complexity- Ambiguity)  แบบเดิมที่มีแต่ความไม่แน่นอน/ซับซ้อน/คลุมเครือ ให้เป็น VUCA World แบบใหม่ ที่เป็นโลกที่มีวิสัยทัศน์/ทิศทางชัดเจนและพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงต่างๆได้ทุกเมื่อ 

 โดยเปลี่ยน

 V-Volatility ความผันผวนสูง เป็น Vision 

 U- Uncertain ความไม่แน่นอนสูง เป็น  Understanding การทำความเข้าใจ 

C- Complexity ความซับซ้อน เป็น  Clarify ความชัดเจนกระจ่าง  

 A - Ambiguity ความคลุมเครือ ไม่ชัดเจน เป็น  Agility เป็นความว่องไวต่อการเปลี่ยนแปลง การรับมือและปรับภาพได้  หรือเรียกว่า  Resilient นั่นเอง