"Thailand Farmers Market" : โมเดลสร้างตลาดนัดเกษตรอินทรีย์เพื่อคนไทย

7 เม.ย. 2558 - Progress Thailand (www.progressTH.org)  - วงจร “หนี้ จน เจ็บ(ฆ่าตัวตาย)ของเกษตรกร เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ Progress Thailand อยากแก้ปัญหาว่าพอจะมีทางใดที่พอจะช่วยแก้ปัญหาได้บ้าง เพราะทุกวันนี้ยังมีข่าวการความเดือดร้อนจนมีการฆ่าตัวตายของเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง

แน่นอนว่าปัญหาที่เกิดขึ้นซับซ้อนในการแก้ไข โดยหลายๆฝ่ายร่วมกันหาทางออกในเรื่องนี้ ทั้งนี้นี้วิธีที่ได้รับการสนับสนุนมากที่สุดและน่าจะเป็นการแก้ปัญหาได้ดีที่สุด คือการให้เกษตรหาทางจากวงจรนี้ ด้วยการหันมาทำเกษตรอินทรีย์ เพื่อประหยัดต้นทุน ไม่ใช้ปุ๋ย/ฆ่าแมลง ซึ่งจะปลอดภัยต่อผู้บริโภคและต่อตัวเกษตรกรเอง และยังขายผลผลิตได้ในราคาท่ีสูงกว่าการปลูกแบบเคมี

แต่เมื่อเกษตรกรลงมือทำ โลกแห่งความจริงกลับไม่เป็นแบบนั้น กลายเป็นว่า ผลผลิตลดลงเพราะดินปรับสภาพไม่ทัน  แต่ที่หนักกว่านั้น เกษตรกรกลับขายของเหล่านี้ไม่ได้ เพราะไม่มีตลาดรองรับ จนสุดท้ายทำให้เกษตรกรไม่มีทางเลือก ต้องยอมขายผลผลิตไปในราคาเท่ากับเกษตรที่ใช้สารเคมี ทั้งที่ใช้เวลา ความทุ่มเท ความพยายามมากกว่า

จนในที่สุดเกษตรจำนวนมาก ที่ตั้งใจลดละเลิกจากการเกษตรที่ใช้เคมี เพื่อหันไปทำเกษตรอินทรีย์ ไม่มีทางเลือก ต้องกลับมาสู่วงจรชีวิต “ตายผ่อนส่ง ด้วยสารเคมี ยาฆ่าแมลง” อีกครั้ง เป็นเรื่องที่น่าเศร้าที่เกิดขึ้นกับเกษตรหลายคน เราในฐานะผู้บริโภค จะสามารถช่วยอะไรได้บ้าง





กลับมาฝั่งผู้บริโภค รู้ทั้งรู้ว่าการกินอาหารปลอดภัย เป็นผลดีต่อสุขภาพ เป็นการกินอาหารเพื่อป้องกันโรค แต่ความจริงที่เกิดขึ้น คือ ไม่รู้จะไม่ซื้อผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ที่ไหน จะมีบ้างไหมที่ราคาไม่แพงเกินไปนัก ทำอย่างไรจะรู้ว่าเป็นเกษตรอินทรีย์จริงๆ เมื่อไม่รู้ว่าเขาปลูกกันอย่างไร จะซื้อแต่ละทีก็ไม่ได้เจอคนปลูกเลย เพราะมีแต่ผักใส่ถุงวางไว้ในห้างเท่านั้น

ทำอย่างไรจะให้ผู้ผลิตกับผู้บริโภคจะได้เจอกันโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ทำอย่างไรผู้บริโภคจะได้กินผลผลิตที่สดจากไร่จริงๆ เป็นคำถาม ที่ทีม Progress Thailand เฝ้าถามมานานและพยายามศึกษาโมเดลต่างๆที่ควรจะเป็น

วันนี้ ความฝันนั้นใกล้เป็นจริงแล้ว เมื่อเราได้รู้ว่า คนกลุ่มหนึ่งกำลังพยายามแก้ปัญหานี้ด้วยการสร้าง Thailand Farmers Market  หรือ ตลาดนัดเกษตรอินทรีย์เพื่อคนไทย แห่งแรกของกรุงเทพฯ ที่มีเป้าหมาย เพื่อให้ผู้ผลิตได้ขายผลผลิตที่มีคุณภาพและผู้บริโภคได้รับอาหารที่ปลอดภัย

K- Village นำร่องเปิดพื้นที่ฟรีให้เกษตรกรสร้างตลาดนัดต้นแบบ

ทีม ProgressTH ได้พบกับ คุณนิลุบล นันทาภิวัฒน์ ผู้บริหาร K Village และ ผู้ประกอบการเกษตรอินทรีย์ จำนวนหนึ่ง ซึ่งรวมตัวกันเพื่อผลักดันสินค้า “เกษตรอินทรีย์”ให้เป็นที่เข้าถึงได้ของประชาชนทั่วไป รวมทั้งการสร้างตลาดเพื่อรองรับผลผลิตจากเกษตรกร ซึ่งเป็นทางออกที่สำคัญที่สุด

คุณนิลุบล  หรือ คุณน้อง หญิงแกร่งแห่ง K Village คอมมูนิตี้ มอลล์ บนเนื้อที่ 15 ไร่ใจกลางสุขุมวิท ผู้ซึ่งตัดสินใจเปิดพื้นที่ให้เกษตรกรมาขายสินค้าฟรีที่ตลาดนัดกลางเมืองแห่งนี้ เปิดใจกับทีม ProgressTH ว่า เหตุผลที่ตัดสินใจทำโครงการนี้ เพราะอยากจะช่วยเกษตรกร และองค์ต่างๆ ที่ทำงานช่วยเหลือเกษตรกร ให้มีพื้นที่ขายสินค้า และเห็นด้วยอย่างยิ่งว่าประเทศไทยควรยึดวิถีเกษตรอินทรีย์  เพราะเป็นประโยชน์ต่อทั้งเกษตรกรและผู้บริโภคอีกทั้งยังเกื้อกูลสิ่งแวดล้อม



“เราอยากให้ Thaiand Farmers Market  แห่งนี้เป็นจุดเริ่มต้น ว่าหากผู้บริโภคคิดถึงตลาดนัดเกษตรอินทรีย์ให้มาที่นี่ และหากเกษตรกรต้องการขายผลิตผลเกษตรอินทรีย์ก็ขอให้มาที่นี่ เพื่อตัดปัญหาพ่อค้าคนกลาง และให้ผู้บริโภคได้รับอาหารที่มีปลอดภัยและมีคุณภาพ โดยทำเป็นโมเดล เพื่อขยายต่อไปในพื้นที่อื่นๆได้  
.... เป้าหมายสูงสุดที่อยากเห็นคือ การที่ทุกจังหวัด/ท้องถิ่น มีตลาดนัดเกษตรอินทรีย์  เป็นของตัวเอง เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงสินค้าเกษตรอินทรีย์  โดยไม่มีอุปสรรคเรื่องการเดินทาง  อยากให้เป็นกระแสทั่วประเทศ โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ  ในอนาคตหากเป็นไปได้ควรมีตลาดนัดเกษตรอินทรีย์แบบปิดถนนช็อปกันทุกสัปดาห​์ ซึ่งเราต้องการทำให้มันเกิดขึ้น” คุณน้องกล่าวอย่างมุ่งมั่น

ตัวแทนกลุ่ม Thaiand Farmers Market  บอกว่า  ขณะนี้อยู่ในการเริ่มต้นในการสร้างตลาดดังกล่าว โดยได้จัดหาแนวร่วมเกษตรกรและผู้ค้าเข้ามารวมกลุ่มกัน เรียกว่า “Collective vendors” เพื่อจะมีผู้ค้าและผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย อีกทั้งการรวมกลุ่มกัน ยังสามารถสร้างทีมผู้ค้าเพื่อเสนอต่อเจ้าของพื้นที่ ที่ต้องการจัด Thailand Farmers  Market ในสถานที่อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเครือเซ็นทรัล กรุ๊ป  และ เดอะมอลล์ เพื่อทำให้เข้าถึงผู้บริโภคในพื้นที่ต่างๆ มากขึ้น และเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับเกษตรกรด้วย

โดยโมเดล Thailand Farmers  Market  ได้จัดขึ้นมาสองครั้งแล้ว ที่ K- Village  โดยจัดขึ้นทุกเสาร์-อาทิตย์ ที่สองของเดือน (วันที่ 11-12 เมษายน 2558) โดยจะมีสินค้าหลากหลาย เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในระดับต่าง ๆ โดยหากเป็นเกษตรกร และ องค์การต่างๆ ที่ช่วยเหลือเกษตรกร จะไม่คิดค่าพื้นที่

นอกจากนี้เงินที่ได้จากการค่าเก็บค่าเช่าพื้นที่ผู้ค้าอื่นๆ จะนำไปซื้อผลิตภัณฑ์สินค้าการเกษตร เช่น ข้าวกล้องอินทรีย์ จากองค์กรที่ช่วยเหลือเกษตรกร เช่น Earth Safe, กลุ่มเพื่อนชาวนา Farmers Friend Rice เพื่อบริจาคให้องค์กรที่ช่วยเหลือสังคม เช่น โรงเรียนครูน้อย เป็นต้น

นอกจากการสร้างตลาดนัดเพื่อเกษตรกรแล้ว กลุ่มปฏิบัติการ Thaiand farmers market ยังมีแนวคิดที่จะจัด work shop ให้กับเกษตรกรในเรื่องต่างๆ เช่น การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ทั้งเรื่องแพคเกจ และการแปรรูปสินค้า รวมถึงเรื่องการใช้ Social media เพื่อประชาสัมพันธ์สินค้าของตนเอง ซึ่งในส่วนนี้หากเกษตรกรมาเองไม่ได้ ก็สามารถให้ลูกให้หลานที่ทำงานที่กรุงเทพฯมาร่วมอบรมเพื่อนำกลับไปบอกพ่อแม่ได้

เปลี่ยนผ่านสู่เกษตรอินทรีย์ ความเสี่ยงต้องน้อยที่สุด 

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนผ่านไปเป็นเกษตรอินทรีย์ 100 % ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะก่อนหน้านี้ทุ่งนาและพื้นที่การเกษตรของไทย ถูกปกคลุมไปด้วยสารเคมี ทำให้ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปีในการเปลี่ยนผ่าน อีกทั้งการให้ได้มาซึ่งใบรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ยังเป็นเรื่องยากและยังมีราคาแพงอีกด้วย

เราได้คุยกันในแนวทางในเรื่องใบรับรองเพื่อลดขั้นตอนความยุ่งยาก อาทิ เช่น การใช้หลัก "Naturally Grown" ซึ่งเน้นการเติบโตของพืชโดยไม่ใช้สารเคมี ยาฆ่าแมลง โดยขณะนี้ Raitong Organics Farm กำลังศึกษารายละเอียดอยู่ โดยจะอาจจะมีการประเมินแบบ ระบบ Peer to Peer ให้ผู้ใช้สามารถแลกเปลี่ยนไฟล์ระหว่างกันหรือใช้ทรัพยากรร่วมกันผ่านระบบเครือข่ายออนไลน์

นอกจากนี้การเปลี่ยนผ่านที่เกิดขึ้น เกษตรกรควรเริ่มต้นทำในพื้นที่เล็กๆ ก่อน เช่น ประมาณ 1 ไร่ เพื่อให้เกษตรกรไม่ต้องเจอความเสี่ยงมากนักและสามารถเปรียบเทียบความคุ้มทุนในการผลิตกับการเกษตรแบบปกติ ในสภาวะที่ตลาดยังไม่มีความแน่นอนแบบที่เป็นอยู่



ทั้งนี้การสร้างเกษตรอินทรีย์เพื่อให้ปักหลักอย่างเป็นรูปธรรมในสังคมไทย ต้องการคนและชุมชนที่หลากหลายเพื่อสร้างถนนสายนี้ร่วมกัน เพื่อให้เกษตรอินทรีย์เป็นสิ่งที่ประชาชนทุกระดับสามารถเข้าถึงได้ เกษตรกรสามารถมีตลาดขายผลผลิต

ทั้งหมดนี้ก็ เพื่อทำให้เกษตรไทยและผู้บริโภคหลุดพ้นจากวิกฤตตายผ่อนส่ง จากการใช้สารเคมี ยาฆ่าแมลง และต้องตระหนักว่า “การไม่โรคเป็นลาภอันประเสริฐ” และโรคภัยเหล่านี้ป้องกันได้จากการบริโภคที่ถูกต้อง เพื่อเป็นการป้องกันโรค ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องสร้างปรากฎการณ์ “เกษตรอินทรีย์เพื่อสุขภาพ” ให้เกิดขึ้น

เพราะฉะนั้น เสาร์-อาทิตย์ ที่จะถึงนี้ เรามีนัดกัน Thaiand farmers market ที่ K Village ตั้งแต่เวลา 09.00- 17.00 น. ทุกคนสามารถร่วมเป็นหนึ่งในการผลักดันการแก้ปัญหาเพื่อเกษตรกรไทยด้วยการขับเคลื่อนThaiand farmers market movement ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมได้  เพราะปัญหาของกระดูกสันหลังของชาติ คือปัญหาของคนไทยทุกคน 

ติดตาม ProgressTH.org ใน Facebook ที่นี่ และ Twitter ที่นี่