รู้จัก “TBCM Online” Platform รักษาวันโรคแบบเรียลไทม์ฟรี หวังไทยพ้นวิกฤตวันโรคดื้อยา

31 พ.ค. 2562 - ProgressTh.org - เป็นเวลากว่าหนึ่งปีแล้ว ที่ โปรแกรมบริหารจัดการผู้ป่วยวัณโรค (Tuberculosis Case Management : TBCM) หรือ TBCM Online ถูกนำมาใช้จริงในประเทศไทย โดยเป็นความร่วมมือระหว่าง สำนักวัณโรค กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่ตั้งใจพัฒนาระบบปฏิบัติการดังกล่าวมานานกว่า 3 ปี เพราะต้องการจัดเก็บฐานข้อมูลผู้ป่วยวัณโรคในประเทศอย่างเป็นระบบ มีประสิทธิภาพ ใช้งานง่าย และเรียลไทม์!





 ภารกิจหิน!! ตามหาผู้ป่วยวัณโรค 40,000 คนเข้าระบบการรักษา 

ที่เป็นเช่นนั้น เนื่องจาก องค์การอนามัยโลก ( World Health Organization) หรือ WHO ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยติด 1 ใน 14 ประเทศ ที่มีอัตราผู้ป่วยวัณโรคสูงที่สุดในโลก โดยจากการคาดการณ์ทางสถิติพบว่า ประเทศไทยมีผู้ป่วยวัณโรคมากถึง 1.2 แสนราย เสียชีวิตจากโรคดังกล่าวปีละ 12,000 ราย แต่ค้นพบและนำเข้าระบบเพื่อรักษาได้เพียง 80,000 ราย คงเหลืออีก 40,000 ราย ที่สำนักวัณโรคและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องค้นหาให้พบและนำเข้าสู่ระบบการรักษา พร้อมเก็บเป็นฐานข้อมูล เพื่อที่ประเทศไทยจะหลุดจากบัญชีประเทศที่มีผู้ป่วยวัณโรคมากที่สุดในโลก

 ขณะที่จำนวนผู้ป่วยวัณโรคทั้งโลกในปี 2560 มีอยู่ราว 10.4 ล้านคน ในจำนวนนี้ 6.3 ล้านคน เป็นผู้ป่วยรายใหม่ และอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ปีละ 1.3 ล้านคน แต่หากผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาอย่างถูกวิธี กรณีวัณโรคปกติสามารถรักษาให้หายขาดได้ในเวลา 6 เดือน ..เมื่อวัณโรคกลายเป็น “โรคติดต่อร้ายแรง” ที่สามารถรักษาให้ “หายขาด” ได้ วัณโรคในประเทศไทยจึงไม่ขยับไม่พ้นสถานการณ์วิกฤติสักที!


เกี่ยวกับเรื่องนี้ พญ.ผลิน กมลวัทน์ ผู้อำนวยการสำนักวัณโรค กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข อัพเดทสถานการณ์ให้ฟังอย่างละเอียดว่า เพราะวัณโรคไม่ใช่โรคที่เป็นแล้วเสียชีวิตทันทีเหมือนไข้เลือดออก และยังสามารถรักษาให้หายขาดได้ คนไทยจึงไม่ค่อยตระหนัก ทั้งที่วัณโรคเป็นโรคติดเชื้ออันดับ 1 ที่ทำให้คนไทยเสียชีวิต นอกจากนี้ ยังสามารถแพร่กระจายได้แบบไม่จำกัดจำนวนผ่านระบบทางเดินหายใจ เมื่อเป็นแล้วต้องเข้ารับการรักษาอย่างถูกวิธีและต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 6 เดือน





หวั่นผู้ป่วยวัณโรคเกิดเชื้อดื้อยา รักษายากเสี่ยงตายสูง

เธอยังบอกด้วยว่า สิ่งที่เป็นกังวลอยู่ในตอนนี้ คือในจำนวนผู้ป่วยวัณโรค 80,000 ราย ที่สามารถผลักดันเข้าสู่ระบบการรักษาทางการแพทย์ได้แล้วนั้น พบว่าในจำนวนนี้มีป่วยเป็น วัณโรคดื้อยาหลายขนาน Multidrug Resistance Tuberculosis (MDR-TB) สูงถึง 1,000 ราย จากจำนวนคาดการณ์ของ WHO ที่ 4,500 ราย ผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาชนิดรุนแรง Extensively Drug Resistant Tuberculosis (XDR-TB) พบที่ 70 ราย จากจำนวนคาดการณ์ของ WHO ที่ 450 ราย ซึ่งผู้ป่วยวัณโรคในสองกลุ่มหลังนี้ใช้งบประมาณในการรักษาค่อนข้างสูง โดยหากเป็นผู้ป่วยกลุ่มวัณโรคปกติจะใช้งบประมาณในการรักษา 3,000 บาท/ 6 เดือน/ ราย แต่หากเป็นผู้ป่วยวัณโรคกลุ่ม MDR-TB จะใช้งบประมาณในการรักษาสูงขึ้นเป็น 120,000 บาท/ 20 เดือน /ราย และถ้าเป็นผู้ป่วยวัณโรคในกลุ่ม XDR-TB จะใช้งบประมาณมากถึง 1.2 ล้านบาท/ 20 เดือน /ราย ซึ่งหากรักษาไม่หายขาดภายใน 3 ปี ส่วนมากจะเสียชีวิต

“ที่สำคัญหากได้รับการรักษาไม่ถูกวิธี ไม่ต่อเนื่อง ซื้อยารับประทานหรือฉีดเอง จากกลุ่มผู้ป่วยวัณโรคปกติ มีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นเชื้อวัณโรคดื้อยาและวัณโรคดื้อยาชนิดรุนแรงได้ นั่นหมายถึงผู้ป่วยมีความเสี่ยงได้รับอันตรายจากผลข้างเคียงของยารักษาวัณโรคมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอาการเป็นสิว ผิวดำ หูอื้อ หนักมากขึ้นจะถึงขั้นหูหนวก ตับอักเสบ ไตวาย ตาบอด และสุดท้ายคือเสียชีวิต เพราะอาการของโรครุนแรงมากขึ้นและไม่ยาชนิดใดที่สามารถรักษาให้หายขาดได้เนื่องจากดื้อยา”



 รู้จัก TBCM Online รักษาผู้ป่วยวัณโรคแบบเรียลไทม์ 

 เพื่อให้สถานการณ์วัณโรคในประเทศไทยลดจากภาวะวิกฤต ไปสู่ระยะที่สามารถแก้ไขควบคุมได้ อย่างแท้จริง โปรแกรมบริหารจัดการผู้ป่วยวัณโรค หรือ TBCM Online (www.TBCMTHAILAND.NET) ที่กล่าวถึงในข้างต้น จึงกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศไทยพ้นจากอันดับประเทศที่มีผู้ป่วยวัณโรคสูงติดอันดับโลก

พญ.ผลิน กล่าวถึง TBCM Online ว่า เป็นระบบปฏิบัติการออนไลน์ที่บันทึกข้อมูลผู้ป่วยวัณโรคทั่วประเทศไทยแบบเรียลไทม์ สามารถเปิดใช้ได้ทุกที่ ทุกเวลา แม้ย้ายไปรักษาในโรงพยาบาลอื่นก็สามารถดึงข้อมูลเพื่อติดตามอาการได้ ขอแค่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ตเท่านั้น

อย่างไรก็ดี โปรแกรม TBCM Online จะมีประสิทธิภาพมากที่สุด เมื่อทุกฝ่ายร่วมมือหยิบนำมาใช้งานจริง เพราะผู้ป่วยจะถูกผลักเข้าสู่ระบบการรักษาที่มีประสิทธิภาพ แถมไม่เสียค่าใช้จ่ายแม้แต่บาทเดียว เภสัชกรในสถานพยาบาลเองก็จะได้บันทึกทั้งจำนวนผู้ป่วย ชนิดยาที่ใช้ วิธีการให้ยา เฝ้าระวังการดื้อยา ทำเป็นรีพอร์ตเก็บข้อมูลเพื่อพัฒนาไปสู่การรักษาที่ปลอดภัยและได้ผลมากที่สุด ยังเป็นการเบาแรงแพทย์ในการสั่งจ่ายยาที่ถูกต้อง มีผลข้างเคียงต่อผู้ป่วยน้อย หรือค้นหาวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละบุคคล หรือในกรณีที่เคสใกล้เคียงกันได้เร็วขึ้น ส่งผลให้ระบบสาธารณสุขด้านวัณโรคของไทยพัฒนาและมีศักยภาพมากขึ้น เพราะมีฐานข้อมูลอ้างอิงที่เชื่อถือได้ สามารถตามติดและควบคุมสถานการณ์ได้ไวได้ทัน

ผลที่จะเกิดขึ้นในระยะยาวคือจำนวนผู้ป่วยวัณโรคในสังคมลดลงเพราะเข้าถึงข้อมูล ท้ายที่สุดประเทศไทยจะหลุดจากลิสต์ประเทศที่มีวัณโรคสูงติดอันดับโลกของ WHO โดยถ้าเทียบกับประเทศใกล้เคียงกันอย่างญี่ปุ่น พบว่าทั้งประเทศมีผู้ป่วยวัณโรคปกติเพียง 1,000 ราย ส่วนผู้ป่วยวัณโรคแบบ MDR-TB ไม่มีเลย และเมื่อค้นพบผู้ป่วยวัณโรค กฎหมายสาธารณสุขของญี่ปุ่นจะผลักดันให้เข้าสู่ระบบการรักษานอนในโรงพยาบาลทันทีจนกว่าจะหายขาด

 “โปรแกรม TBCM เป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นตัวผู้ป่วย เภสัชกร แพทย์ ระบบสาธารณสุขของไทย สังคม ไปจนถึงประเทศ โดยเฉพาะกับการปรับสถานะยา หรือ Drug Reclassification ในกลุ่มยารักษาวัณโรค ที่ยาในกลุ่มดังกล่าวจะถูกจัดให้ใช้เฉพาะในโรงพยาบาลและสถานพยาบาลที่กำหนด ตรงนี้จะเป็นการผลักดันให้ผู้ป่วยวัณโรคเข้าถึงระบบการรักษาที่ถูกวิธีและมีประสิทธิภาพ ได้รับยาต่อเนื่อง ผลข้างเคียงน้อย ไม่เสี่ยงต่ออาการเชื้อดื้อยาที่ส่งผลต่อการเสียชีวิตในอนาคต เป็นการสร้างสังคมสุขภาวะอย่างแท้จริง” ผู้อำนวยการสำนักวัณโรค กล่าวย้ำอย่างมั่นใจ สำนักวัณโรคจึงขอเฃิญชวนให้ประชาชนเข้าตรวจคัดกรองวัณโรคตามสถานพยาบาลใกล้บ้าน ซึ่งถ้าตรวจพบจะได้นำเข้าสู่กระบวนการรักษาอย่างถูกวิธี ที่สำคัญไม่เสียค่าใช้จ่ายตั้งแต่เข้าตรวจคัดกรอง และตลอดการรักษาจนกว่าจะหายขาด.


ติดตาม  ProgressTH.org   Facebook ที่นี่ หรือ Twitter ที่นี่