ควันหลงร่างพรบ.ข้าวกับบทเรียน 5 ข้อจากลูกชาวนา ชูปฏิรูปเกษตรกรรมเพื่ออาหาร-พลังงาน รับมือวิกฤตโลก

10 มีนาคม 2562 - ProgressTH.org : หมายเหตุ : บทความนี้เขียน โดย กาติ๊บ ธัญณิชา เหลิมทอง ผู้ร่วมก่อตั้ง www.progressTH.org  ที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์เมื่อเร็วๆนี้ ในเรื่องร่างพรบ.ข้าว ที่มีการถอนออกจากการพิจารณาในวาระ 2-3 ซึ่งเป็นวาระสุดท้าย เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นปรากฎการณ์ที่น่าสนใจสำหรับคนไทยในเรื่องกระบวนการกำหนดนโยบายที่เป็นบทเรียนสำคัญที่สามารถนำไปปรับใช้เพื่อนำพาประเทศไทยก้าวไปข้างหน้าด้วยนโยบายที่เป็นธรรมเท่าเทียมต่อทุกคนได้




ถือเป็นหนึ่งในกฎหมายที่บีบหัวใจชาวนาไทยและคนไทยทั้งประเทศเลยทีเดียว สำหรับ “ร่างพ.ร.บ.ข้าว พ.ศ… ที่เสนอโดย“สภานิติบัญญัติแห่งชาติ” (สนช.) ในช่วงปลายเดือนที่ผ่านมา ซึ่งมีเนื้อหาที่อ่อนไหวที่อาจจะกระทบต่อวิถีชีวิตชาวนาในเรื่องการเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้เพาะปลูกเองว่าจะสามารถทำได้เหมือนเดิมหรือไม่อย่างไร และเป็นกฎหมายที่เข้ามา “ควบคุม” การทำนาของชาวนา มากกว่าต้องการ  "พัฒนา" คุณภาพชีวิตชาวนาอย่างแท้จริง

 เพราะกฎหมายที่ร่างไว้ให้อำนาจกรมการข้าวในการตรวจสอบเมล็ดพันธุ์ข้าวอย่างกว้างขวางว่าข้าวชนิดใดมีคุณภาพหรือไม่มีคุณภาพ และยังมีการกำหนดโทษว่าถ้าใครฝ่าฝืนมีโทษทั้งจำและปรับด้วย ทำให้มีเสียงคัดค้านมาจากทุกสารทิศว่ากฎหมายดังกล่าวไม่ได้ช่วยให้ชาวนามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่เป็นการซ้ำเติมให้ชีวิตชาวนายากลำบากไปมากกว่าเดิม

 สำหรับร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นลูกชาวนา ยอมรับว่าไม่เคยเห็นร่างกฎหมายใดในชีวิต ที่ทำให้พ่อแม่ต้องทุกข์ใจและหดหู่แบบนี้มาก่อน โดยหลังจากที่เราได้นั่งดูข่าวด้วยกัน

พ่อบอกว่า ...“ถ้ากฎหมายฉบับนี้ออกมา คงไม่สามารถทำมาหากินได้ เพราะ เพราะแค่การเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้เองก็สุ่มเสี่ยงจะติดคุกแล้ว การขายข้าวปลูกเล็กๆน้อยๆ ให้เพื่อนบ้านก็มีสิทธิติดคุกเช่นกัน ทั้งที่เราไม่ได้ขายเชิงพาณิชย์ แต่เหมือนเป็นการแบ่งปันกันมากกว่า เพราะราคาที่เราขายถูกกว่าที่ต้องซื้อจากกรมการข้าว คือขายแค่กิโลกรัมละ 7 บาท แต่ในขณะที่ของกรมการข้าวกิโลละประมาณ 14​ - 17 บาท เพราะขายเป็นกระสอบละ 25 กก. ราคาประมาณ 360​ - 420 บาท แล้วแต่ชนิดของข้าว ชาวบ้านเลยเลือกซื้อข้าวปลูกจากชาวนาด้วยกันเองมากกว่า เพราะบางครั้งซื้อพันธุ์ข้าวของรัฐมาก็ไม่ค่อยงอกด้วยซ้ำ ” ...

ทั้งหมดเหล่านี้เป็นคำบอกเล่าปนระบายที่ไม่ยาวมากนัก แต่มันชัดเจนทำให้ผู้เขียนเห็นภาพทั้งหมด ว่าปัญหาที่แท้จริงของร่างพรบ.ข้าว ฉบับนี้เกิดจาก คนที่ทำกฎหมายไม้ได้เข้าใจวิถีชีวิตของชาวนา ไม่เคยทำนา เลยไม่รู้ว่าทำไมชาวนาต้องเก็บเมล็ดพันธุ์เอง ซึ่งคำตอบที่ชัดเจนที่สุดคือ การเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าว คือ การลดต้นทุนที่เกษตรกรสามารถทำได้ตัวเองมากที่สุด

นี่คือ เหตุผลที่กฎหมายฉบับนี้ทำให้ชาวนารู้สึกปวดใจยิ่งนัก และคิดภาษีที่เสียไปทั้งทางตรงและทางอ้อมที่จ่ายเป็นเงินเดือนให้สนช. และ ภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ตอบแทนความเหนื่อยยากชาวนาและคนทั้งประเทศด้วยกฎหมายที่กีดกัน/จำกัดสิทธิ์/เหยียบย่ำ ชาวนาให้จมลงดินให้อยู่ในภาวะ “โง่ จน เจ็บ” แบบนี้หรือ




อย่างไรก็ตามเสียงคัดค้านจากทั่วสารทิศทั้งจากประชาชน นักวิชาการ และ ผู้ที่เกี่ยวข้อง ที่เรียกร้องให้มีการทบทวนกฎหมายและแก้ไข โดยเฉพาะเรื่องการเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวว่าควรมีการยกเว้นพันธุ์ข้าวพื้นเมืองต่างๆ ให้ชัดเจน ทำให้กรรมาธิการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ข้าว ที่มี พล.อ.มารุต ปัชโชตะสิงห์ เป็นประธาน กมธ. ยอมถอยและมีการปรับร่างกฎหมายตามความต้องการของประชาชน โดยมีการปรับปรุงร่างกฎหมายถึง 2 ครั้ง เพราะไม่สามารถต้านทานกระแสการคัดค้านจากภาคประชาสังคมได้ 

 โดยเนื้อหายังคงสาระการส่งเสริมชาวนาให้ปลูกข้าวที่มีคุณภาพและผ่านการรับรองพันธุ์ แต่ได้เพิ่มบทยกเว้นให้ชาวนาที่มีพันธุ์ข้าวพื้นเมืองเฉพาะถิ่น พันธุ์ข้าวพื้นเมืองทั่วไป พันธุ์ข้าวใหม่ที่ได้รับการจดทะเบียนว่าด้วยคุ้มครองพันธุ์พืช ซึ่งชาวนาปลูกเองหรือผู้อื่นใช้เพาะปลูกโดยไม่มีการโฆษณา ใช้เพาะปลูกได้โดยไม่ต้องผ่านการรับรองพันธุ์ 

ทั้งนี้ กรณีชาวนาอยากได้การรับรองพันธุ์ สามารถยื่นให้กรมการข้าวพิจารณารับรองได้ ขณะเดียวกันหากพบพันธุ์ข้าวที่อาจสร้างความเสียหายต่อชาวนา หรือเศรษฐกิจของประเทศ ให้อำนาจอธิบดีกรมการข้าว โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) สั่งระงับผู้ทำธุรกิจจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ได้ หากผู้ทำธุรกิจจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ไม่ปฏิบัติตาม มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ ขณะที่มาตรการลงโทษชาวนานั้น สาระของร่างที่ปรับปรุงได้ตัดออกทั้งหมด

ทั้งนี้หากเป็นไปตามที่ กมธ. ชี้แจง อาจจะถือได้ว่าร่างพ.ร.บ.ข้าว ฉบับนี้ ไม่ได้เป็นกฎหมายที่แย่มากนัก เพราะอย่างน้อยถือเป็นกฎหมายที่กำหนดให้มีการจัดตั้งกลไกรัฐขึ้นมาดูแลเรื่องข้าวอย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่แบบเฉพาะกิจ เฉพาะที่รัฐประสบกับภาวะราคาข้าวตกต่ำแบบที่ผ่านมาเท่านั้น

อย่างไรก็ตามสิ่งที่เกิดขึ้น ที่ดูเหมือนว่าเมื่อร่างกฎหมายได้รับฟังเสียงของประชาชนและอาจจะเป็นกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน แต่ กมธ. โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ซึ่งเป็นผู้เสนอร่างกฎหมายดังกล่าวก็ไม่มีความ “กล้าหาญ” พอที่จะผลักดันกฎหมายนี้ต่อไป เพราะนายกิตติศักดิ์ ได้ตัดสินใจถอนกฎหมายนี้ออกจากพิจารณาของสนช.ในวันที่ 26 ก.พ. 2562 โดยอ้างว่าไม่อยากให้เกิดความขัดแย้งในอนาคตและเหตุผลอื่นๆอีกมายมาย

 จนเป็นที่น่าคิดว่าความจริงแล้วการผลักดันกฎหมายฉบับนี้ มีเป้าหมายเพื่อประโยชน์ของชาวนา หรือเพื่อประโยชน์ของใครกันแน่ เพราะเมื่อมีการแก้ตามความต้องการของประชาชนจริงๆแล้ว แต่กลับไปไม่ถึงฝั่งฝันถูก “พับเก็บ” ไปแบบไม่คำนึงความรู้สึกของประชาชนเลย

ผู้เขียนในฐานะที่เป็นลูกชาวนาและติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด มีข้อสรุปและบทเรียนที่ผู้เขียนได้เรียนรู้ดังนี้

 1.ชาวนาถูกทำให้เป็นตัวประกันทางการเมืองอยู่เสมอ สิ่งที่เกิดขึ้นตอกย้ำความคุ้นชินที่ชาวนาต่างรับรู้กันดี ว่าที่สุดแล้วฝ่ายการเมืองก็มองชาวนาเป็นเพียง “ตัวประกัน” เท่านั้น เพราะแม้ว่าเนื้อหากฎหมายจะดีและเป็นประโยชน์ต่อประชาชน แต่ “ประโยชน์ทางการเมือง” ย่อมมาก่อน “ประโยชน์ของประชาชน” เสมอ เพราะ พ.ร.บ.ข้าว นี้แม้เสนอโดยสนช. แต่มีผลต่อพรรคพลังประชารัฐ เพราะมีประชาชนจำนวนมากคัดค้าน/ผิดหวัง/ประณามร่าง พ.ร.บ.ข้าว ว่าเป็นกฎหมายที่ทำร้าย/ทำลายชาวนา แม้จะมีการปรับแก้แล้วก็ตาม

แต่ฝ่ายเมืองประเมินแล้วว่าการทำความเข้าใจกับประชาชนคงเป็นเรื่องที่ยาก เพราะฉะนั้นในช่วงที่จะมีการเลือกตั้งแบบนี้ ดังนั้น ไม่ควรมีประเด็นที่มีความสุ่มเสี่ยงกับความไม่พอใจของชาวนาทั่วประเทศที่มีกว่า 17 ล้านคนโดยเด็ดขาด การถอนร่างออกไปก่อนถือว่าเป็นทางออกที่ดีทีสุด (ของฝ่ายการเมือง) ทั้งที่ความจริงแล้วถ้ายืนยันว่ากฎหมายนี้สำคัญต่อชาวนาก็ควรมีการผลักดันให้ถึงที่สุด

 2.การร่างกฎหมายต้องมีความโปร่งใส ตัวอย่างจากพ.ร.บ.ข้าว ฉบับนี้ ที่ในตอนแรก กมธ.ยืนยันว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเด็กขาด เพราะมีการจัดทำมากว่า 2 ปี และมีการรับฟังความคิดเห็น (ตามกระบวนการ) ครบหมดแล้ว ซึ่งคงไม่เป็นแบบนั้น เพราะกลายเป็นว่าทันทีที่กฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของสนช.ตั้งแต่ต้นปี 2562 เป็นต้นมา กลับมาเสียงคัดค้านจากสังคมอย่างหนัก มีการยื่นหนังสือคัดค้านจากสมาคม/องค์กร/หน่วยงานต่างๆ ต่อสนช.เกือบทุกวัน กลายเป็นประเด็นสาธารณะ

 จนกระทั่งกมธ.ต้องขอเลื่อนการพิจารณาวาระ 2-3 ใน วันที่20 ก.พ. 2562 ออกไปก่อน เพื่อนำร่างกฎหมายไปปรับปรุงจากข้อเสนอต่างๆให้เหมาะสม โดยใช้เวลาถึง 3 วันเต็มๆ เห็นได้ว่า ถ้า กมธ.มีการรับฟังความคิดเห็นอย่างเปิดกว้างไม่ใช่เป็นเพียงแค่พิธีการ โดยทำให้กฎหมายนี้เป็นประเด็นสาธารณะเพราะมีผู้ได้รับผลกระทบจำนวนมากแบบนี้ตั้งแต่แรก ก็จะไม่เกิดเสียงประท้วงจากทุกสารทิศ จนต้องถอนกฎหมายออกไป เสียทั้งเงิน(ที่มาจากภาษีประชาชน) เสียทั้งเวลาและอาจจะเสียหน้าอีกต่างหาก

 3.การทำงานแบบบูรณาการของภาครัฐ เป็นคำตอบที่สำคัญที่สุดของการทำงานเพื่อประชาชนเสมอ ทั้งนี้เมื่อพิจารณาลงในรายละเอียดของกฎหมายฉบับนี้ จะเห็นว่าหนึ่งในเป้าหมายสูงสุดของกฎหมาย คือ ต้องการให้มีกลไกภาครัฐในการบริหารจัดการนโยบายข้าวทั้งในด้านการผลิตและด้านการตลาด ซึ่งความจริงมีกลไกและหน่วยงานที่ทำหน้าที่นี้อยู่ทั้ง ทั้งนายกรัฐมนตรี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร กระทรวงพาณิชย์ รวมถึงกระทรวงอื่นๆที่ต่างมีภารกิจในการพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวนาทั้งทางตรงและทางอ้อม เพราะทุกคนรู้ดีว่าชาวนาคือ กระดูกสันหลังของชาติและเป็นอาชีพดั้งเดิมของแผ่นที่เลี้ยงดูคนทั้งประเทศ

แต่ประเด็นคือ ที่ผ่านมาหน่วยงานต่างๆทำหน้าที่ได้เต็มที่ตามศักยภาพและความสามารถของตัวเองหรือยัง ไม่เช่นนั้นคงไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายที่กำหนดมีการตั้งเจ้าภาพหลักขึ้นมาดูแลในเรื่องต่างๆ ให้ชัดเจนแบบนี้ ทางที่ดี เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องควรหันกลับมาทำหน้าที่ของตัวเองให้ดียิ่งมากขึ้น เพื่อที่จะช่วยกันทำให้ชาวนาไทยมีความเข้มแข็ง ไม่อยู่ในภาวะ “จนและเจ็บ” อีกต่อไป

4.ความรู้เท่าทันทางการเมือง (Political Literacy) และ การศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง (Civic Education)คือ พื้นฐานสำคัญของระบอบประชาธิปไตยที่มั่นคงและยั่งยืน ปรากฎการณ์คัดค้านร่างพ.ร.บ. ข้าว จากทุกภาคส่วนของสังคม ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มชาวนา โรงสี ผู้ส่งออกข้าว นักวิชาการ สื่อมวลชน ฯลฯ ถือเป็นตัวอย่างที่สำคัญที่ทำให้เห็นว่าความรู้เท่าทันทางการเมืองเป็นเรื่องสำคัญและเป็นสิ่งที่ประชาชนจะละทิ้งไม่ได้

 เพราะการออกกฎหมาย/นโยบายเป็นเรื่องที่ประชาชนได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมเสมอ การให้การศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองจึงเป็นอีกหนึ่งวาระเร่งด่วนมากสำหรับสังคมไทย เพื่อให้ประชาชนมี ที่ความตื่นตัวทางการเมือง เพื่อตรวจสอบถ่วงดุล สนับสนุน ผลักดันนโยบายต่างๆเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะมากที่สุด เพราะการเมืองนอกสภายังสำคัญเสมอและสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมควบคู่ไปกับการเมืองในรัฐสภาได้

 5. มองข้ามช็อตหลังพรบ.ข้าว การปฏิรูปเกษตรกรรมคือคำตอบ ผลักดันไทยเป็นประเทศ ที่ผลิตการเกษตรเพื่ออาหาร และ เกษตรเพื่อพลังงาน แก้วิฤตความมั่นคงทางอาหารและปัญหาเรื่องโลกร้อน ( Climate Change) ของโลก โดยหลังจากที่ ร่างพ.ร.บ. ข้าว ถูกพับเก็บไป(ชั่วคราว) จากนี้ไป คือการตั้งใจทำงานของข้าราชการอย่างมีเอกภาพเท่านั้น และควรมองภาคเกษตรเป็นหนึ่งในวาระเร่งด่วนที่ต้องมีการใส่ใจและแก้ปัญหาที่ค้างคาอยู่บ้าง ไม่ใช่มุ่งเน้นไปที่ภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่รัฐคิดว่าสร้าง GDP ส่วนใหญ่ให้ประเทศเท่านั้น

 จริงอยู่รายได้จากการส่งออกข้าวของชาวนาอาจจะแค่ 8% ของ GDP แต่อย่าลืมว่าประเทศไทยมีชาวนาประมาณ 4.8 ล้านครัวเรือน หรือประมาณ 17ล้านคน คิดเป็น 1/5 ของคนทั้งประเทศ กำลังซื้อการใช้จ่ายต่างๆที่กระตุ้นเศรษฐกิจไทยจริงๆ ก็มาจากชาวนาและเกษตรกรนั่นเอง

 ดังนั้น แบบควรมองเป็นภาพรวมในเรื่อง "การเกษตร" ทั้งหมดโดยไม่ใข่แค่ชาวนาอย่างเดียว เพราะความจริงไม่ว่าจะเป็นชาวนา ชาวไร่ ชาวสวน ปศุสัตว์ต่างๆ เราก็จะแบบถูกลืมไว้ท้ายๆๆของท้ายเสมอ ทั้งนี้ถ้ามองอย่างมียุทธศาสตร์ในภาพใหญ่ น่าจะต้องมีการปฏิรูปการการเกษตรอย่างจริงจังมากกว่า โดยควรมองคู่กับภาพพลังงานไปด้วย เพราะพลังงานเป็นสิ่งที่ชาติขาดไม่ได้ และฟอสซิลสามารถหมดไปได้ และในขณะเดียวกัน พลังงานสามารถมาจากภาคการเกษตรได้ 

เพราะฉะนั้น อาจจะต้องมีการมองเรื่องเกษตรเพื่ออาหาร และ เกษตรเพื่อพลังงาน ซึ่งประเทศไทยมีโอกาสทั้งสองเรื่อง เพราะเราโชคดีมากที่ตั้งอยู่ในทำเลที่ดี รวมถึงเกษตรเพื่อพลังงานเราก็มีในหลวงรัชกาลที่9 เป็นต้นแบบไว้นานแล้ว ซึ่งหากถ้าภาครัฐมีความตั้งใจเห็นประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติสำคัญที่สุด เราสามารถต่อยอดจากสิ่งที่เรามีเพื่อให้ประเทศของเรามีความมั่นคงทั้งด้านอาหารและด้านพลังงานได้ ซี่งทั้งสองปัญหาเป็นปัญหาสำคัญของโลกและประเทศไทยมีศักยภาพภาพในการแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ ขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์ของรัฐเท่านั้น!!!

 ###