เปลี่ยนความมืดมิดให้เป็นแสงสว่าง จุดเริ่มต้นลดความเหลื่อมล้ำ

26 มีนาคม 2558 - Progress Thailand - ไฟฟ้าเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดปัจจัยหนึ่งสำหรับการดำรงชีวิตประจำวันของเราทุกคน เพราะไฟฟ้าเป็นพลังงานหลักในทุกเรื่องไม่ว่าจะเป็นการสื่อสาร การคมนาคม การให้ความรู้ การศึกษา ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ ลองคิดดูว่าสมัยนี้หากไม่มีไฟฟ้า เราจะอยู่อย่างไร

แต่ทว่าในความเป็นจริง ก็ยังมีชุมชน/หมู่บ้าน ในพื้นที่ห่างไกล อีกจำนวนมาก ที่ไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึง คนเหล่านี้ต้องอยู่กับความมืดมิด ใช้ตะเกียง/เทียน เพื่อให้แสงสว่าง ซึ่งเทียบไม่ได้เลยกับแสงสว่างที่มาจากหลอดไฟ แต่คนเหล่านี้ไม่มีโอกาสเข้าถึงความสะดวกสบายตรงนี้

ไม่มีโอกาสได้ดูโทรทัศน์ ไม่มีแอร์ ไม่มีพัดลม ไม่มีโอกาสใช้คอมพิวเตอร์/เล่นอินเตอร์เน็ต รวมถึงไม่มีสัญญานโทรศัพท์ ไม่มีโอกาสได้พัฒนาศักยภาพใดๆ เพราะติดต่อสื่อสารกับโลกภายนอกไม่ได้ ชีวิตที่ตรงนั้นช่างแตกต่างกับคนในเมืองยิ่งนัก เราไม่ควรปล่อยให้เป็นแบบนี้ เพราะนี่ คือความเหลื่อมล้ำที่ต้องแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม


ล่าสุด เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว. มหาดไทย (มท.)  เปิดเผยว่า มท.ได้จัดทำโครงการ “ลดความเหลื่อมล้ำ แบ่งปันความสุข"” โดยมีเป้าหมายให้ ประชาชนได้มีไฟฟ้าใช้ทุกหลังคาเรือน กำหนดเป้าหมาย 30,867 ครัวเรือน ในระยะเวลา 1 ปี โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนตุลาคม 2557 กันยายน 2558

โดยผลการดำเนินล่าสุดครึ่งทางเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2558 การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเป็นผู้รับผิดชอบพัฒนาโครงการนี้สามารถทำให้ประชาชนเข้าถึงการใช้ไฟฟ้าแล้วจำนวน 23,074 ครัวเรือน หรือคิดเป็นร้อยละ 75 ของเป้าหมายครัวเรือนที่กำหนด

โดยจะเดินหน้าต่อในเดือน เมษายน- มิถุนายน ตั้งเป้าไว้ที่ 3,000 ครัวเรือน เพื่อให้ประชาชนที่อยู่ในชนบทหรือพื้นที่ห่างไกลและกลุ่มผู้มีรายได้น้อยให้สามารถเข้าถึงบริการของรัฐได้อย่างเท่าเทียม ตามนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนลดความเหลื่อมล้ำของสังคม

อย่างไรก็ตามในข่าวไม่ได้ระบุว่า มีการแก้ปัญหาที่ใดบ้าง แต่แน่ๆ หนึ่งในพื้นที่ที่ยังไม่ได้รับแก้ไขเรื่องนี้ คือพื้นที่ ต.ป่าเด็ง อำเภอ แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ซึ่งไกลจากกรุงเทพฯประมาณ 4 ชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งป่าเด็งตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าลึก สายส่งไฟฟ้าเข้าไม่ถึง สัญญาณโทรศัพท์ถูกตัดขาด ไม่มีแก๊สหุงต้ม ชาวบ้านในชุมชนต้องพึ่งตนเองโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ และแก๊สชีวภาพ เกิดองค์ความรู้ ที่ชาวบ้านได้ลงมือปฏิบัติจริง จนสามารถฝ่าฟันความขาดแคลนพลังงานมาได้ ซึ่งเรียกกันว่า “ ป่าเด็งโมเดล ”


ในภาพคือไฟฟ้าที่สถาบันเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นฐานการทำงานของเครือข่ายรวมใจตามรอยพ่อ ที่ป่าเด็ง แสงสว่างจากพลังงานทดแทนเพียงแค่นี้ก็เพียงพอแล้วสำหรับพื้นที่สายส่งเข้าไม่ถึง เพราะเป็นพลังงานที่ปลอดภัยกว่าการใช้ตะเกียง ซึ่งสามารถดับได้ทุกเมื่อถ้ามีลมแรง และยังเสี่ยงต่อการเกิดไฟไหม้อีกด้วย เห็นได้ว่าไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน "ไฟฟ้า" สำคัญเสมอ


ก่อนหน้านี้ทีม ProgressTH ได้เดินทางลงพื้นที่ที่นี่ และได้พบว่าคนในพื้นที่ได้เริ่มแก้ปัญหากันเองแล้ว แต่มันยังไม่เพียงพอที่จะช่วยคนทั้งพื้นที่ให้สามารถพ้นความมืดมิดได้ เพราะมันเหนือบ่ากว่าแรงของชาวบ้านที่จะทำได้ เพราะคนที่นั่นอยู่ในป่าลึกและมีฐานะยากจนมาก

ก่อนหน้านี้พื้นที่ป่าเด็ง เคยมีแสงสว่างมาแล้วจากพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ ซึ่งได้รับมาจาก นโยบาย Solar home ช่วงปี 2544 โดยมีการประกัน 3 ปี หลังจากนั้นพอหมดประกันปรากฎว่าแผงโซล่าเซลล์ เริ่มพังและใช้การไม่ได้และไม่มีคนมาซ่อม

“เหตุที่ชาวบ้านซ่อมเองไม่เป็น เพราะรับมาฟรี ไม่มีการสอนให้ซ่อม ทำให้แผงโซล่าเซลล์ที่ควรมีอายุอย่างน้อย 20 ปีใช้งานไม่ได้เลย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก เพราะแผงโซล่าเซลล์แต่ละเซ็ทมีราคาสูงถึง 3-4หมื่นบาท ซึ่งมีหลายพื้นที่เจอกับปัญหานี้ที่มีแผงโซล่าเซลล์แต่ใช้การไม่ได้” โกศล แสงทอง ประธานเครือข่ายรวมใจตามรอยพ่อ ชี้แจง





เขากล่าวต่อว่า ในฐานะที่ตัวเองพอมีความรู้เรื่องนี้อยู่บ้างเลยชวนชาวบ้านมาซ่อมแผงโซล่าเซลล์ด้วยกัน เพราะการซ่อมตรงนี้ทำได้ไม่ยาก แค่เพียงนำตัว “ไดโอด” ซึ่งเป็นตัวควบคุมการไหลของกระแสไฟฟ้าให้เป็นไปในทางเดียวมาใส่ ก็สามารถนำแผงโซล่าเซลล์ มาใช้ได้อีกครั้ง

“ตอนนั้นผู้นำครอบครัวหลายบ้านได้มาเรียนรู้เรื่องนี้ เพื่อนำไปสอนให้สมาชิกในบ้าน ได้รู้จักโซล่าเซลล์ว่าทำงานอย่างไรและแก้ไขอย่างไรถ้ามีปัญหา โดยทุกคนต้องทำได้แม้กระทั่งเด็กๆก็ต้องรู้จ้กอุปกรณ์เหล่านี้ โดยถ้าไฟดับต้องแก้ปัญหาได้ เพราะฉะนั้นเรื่ององค์ความรู้จึงสำคัญมาก เพราะเรามีบทเรียนมาแล้ว ชาวบ้านที่นี่จึงเรียนรู้ที่จะพึ่งตนเอง และลงมือปฏิบัติจริง”

อย่างไรก็ตามการดำเนินการที่ผ่านมาเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะการซ่อมครั้งนี้มีต้องซื้ออุปกรณ์ใหม่ทั้งหมด เพราะอุปกรณ์ต่างๆพังไปกับแผงโซล่าเซลล์ ไม่ว่าจะเป็น คอนโทรลชาร์จ แบตเตอรี่ สายไฟ รวมแล้วคิดเงินประมาณ 4,000 บาท ต่อครัวเรือน ซึ่งสำหรับหลายคนอาจจะมองว่าเป็นเงินที่น้อยนิด

แต่สำหรับชาวบ้านนี่เงินจำนวนดังกล่าวเป็นเรื่องใหญ่มาก แม้จะรู้ว่าไฟฟ้าจะช่วยเปลี่ยนให้ชีวิตพวกเขาสบายขึ้นไปอีกอย่างน้อย 20 ปี แต่ชาวบ้านที่นี่ที่อยู่ในป่าลึก ไม่มีเงินเพียงพอที่จะจ่ายได้ เพราะชีวิตไม่มีทางเลือกมากนัก จึงต้องทนอยู่กับความมืดมิดต่อไป ปัญหาที่เกิดขึ้น

เครือข่ายรวมใจตามรอยพ่อ ได้พยายามแก้ปัญหาอย่างสุดความสามารถในการระดมทุนเพื่อนำเงินมาซื้ออุปกรณ์ซ่อมแผงโซลาเซลล์ให้กับสมาชิก เช่น การเล่นแชร์กันในกลุ่มเดือนละ 300 บาท เพื่อให้ทุกคนในกลุ่มหมุนเวียนกันนำเงินตรงนี้ไปซื้ออุปกรณ์มาซ่อมให้บ้านตัวเอง

แต่จนแล้วจนรอดขณะนี้ก็ยังไม่ทั่วถึง โดยคาดว่าน่าจะมีชาวบ้านที่ยังใช้ตะเกรียงอยู่ประมาณเกือบ 200 ครัวเรือน เพราะขาดแคลนงบประมาณ ล่าสุด ที่ทีม ProgressTH ได้ลงพื้นที่ครั้งนั้น และมีข่าว “ป่าเด็งโมเดล” นวัตกรรมพลังงานทดแทน เผยแพร่ออกไป





เครือข่ายรวมใจตามรอยพ่อได้จัดการระดุมทุน ด้วยการให้ผู้ที่สนใจเรื่องพลังงานทดแทน มาลงพื้นที่ที่นี่ และเข้าร่วมปฏิบัติการ “ป่าเด็งโมเดล” ติดตั้งพลังงานทดแทนให้กับบ้านเรือนที่สายส่งเข้าไม่ถึง โดยได้เรียนรู้จริง ลงมือปฏิบัติจริง และได้ลงมือช่วยเหลือคนที่ยากลำบากกว่า โดยการบริจาคตามกำลังศรัทธา รวมถึงการเปิดรับบริจาค จากเครือข่ายเฟซบุค ที่ติดตามการทำงานของทีมป่าเด็งโมเดล

โดยผลการดำเนินงานดังกล่าว ได้ช่วยให้ครอบครัวชาวกะเหรี่ยงปกากะญอ 3 ครัวเรือนได้กลับมามีไฟฟ้าใช้อีกครั้ง โดยทางเครือข่ายฯยังได้ติดตั้ง ระบบปั๊มชักโซล่าเซลล์พร้อมถังเก็บน้ำ 500 ลิตร เพื่อต่อท่อน้ำขยายไปครัวเรือน เพื่อที่ชาวบ้านสะดวกสบายมากขึ้น เพราะจะได้ไม่ต้องเดินเป็นระยะทางไกลเพื่อหาบน้ำมาใช้อีกต่อไป

นอกจากจะพยายามช่วยคนในพื้นที่แล้ว เครือข่ายรวมใจฯยังเดินทางไปช่วยคนในพื้นที่อื่นด้วย เพราะหลายที่เจอปัญหาเหมือนกัน คือ มีแผงโซลาเซลล์แต่ใช้ไม่ได้ เพราะพังเร็วกว่ากำหนด เช่นบ้านของ ทองใหม่ เสวตพยัคฆ์ ชาว ต.คลองลานพัฒนา อ.คลองลาน จ.กำแพงเพชร พื้นที่ไฟฟ้าเข้าไฟม่ถึง แต่มีแผงโซล่าเซลล์และไม่มีไฟใช้ มา 5 ปีแล้ว ทำให้น้องมินท์ลูกสาวต้องทำการบ้านกับตะเกียงมาโดยตลอด




วิทยากรทีมป่าเด็งโมเดล นำโดย สมชาย กังวาฬวงศ์ และ พิรัฐ อินทรพานิช ได้ช่วยปลดล็อความยากลำบากของครอบครัวนี้ ด้วยการฟื้นฟูแผงโซลาเซลล์ทั้งหมด ทั้งติดหลอดไฟ เพิ่มแบตเตอรี่ใหม่ พร้อมพัดลมคลายร้อน ต่อจากนี้น้องมินท์ไม่ต้องทำการบ้านกับตะเกียงร้อนๆ และเสี่ยงไฟไหม้ได้ทุกเมื่ออีกแล้ว

ทั้งหมดนี้คือการริเริ่มจากคนธรรมดาที่พยายามแก้ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ตามกำลังที่ประชาชนธรรมดาจะทำได้ ในเมื่อรัฐมีความตั้งใจที่จะแก้ปัญหานี้อยู่แล้ว เพียงแค่สนับสนุนงบประมาณหรืออุปกรณ์ฟื้นฟูแบตเตอรี่ รัฐก็จะช่วยนำแสงสว่างให้พื้นที่ไร้สายส่งพ้นความมืดมิดทันที

ที่สำคัญการสนับสนุนทางเทคโนโลยีครั้งนี้จะไม่เหมือนในอดีตที่ผ่านมา ที่ชาวบ้านรับมาฟรีแต่ไม่มีองค์ความรู้ เพราะจากนี้ไปประชาชนจะติดตั้งด้วยตัวเองและใช้เทคโนโลยีให้คุ้มค่ามากที่สุด  เพราะการมีไฟฟ้าช่วยทำให้ชีวิตสบายขึ้น เพราะไฟฟ้าเป็นประตูในการเข้าถึงเทคโนโลยีอื่นๆ เพื่อให้ประชาชนพัฒนาตัวเองได้ ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมในอนาคต


ดังนั้น หากเป็นไปได้ในเฟส 3 เดือนต่อจากนี้ที่รัฐตั้งไว้ ว่าจะแก้ไขปัญหาเรื่องไฟฟ้าเข้าไม่ถึงอย่างน้อย 3,000 ครัวเรือน  ควรมีชุมชนป่าเด็งและที่อื่นๆ ที่ประสบปัญหานี้ด้วย เพราะชาวบ้านได้เริ่มแล้ว เหลือแต่การสนับสนุนเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ไม่ใช่เรื่องใหญ่สำหรับกระทรวงมหาดไทย ที่มีเป้าหมายแก้ไขความเหลื่อมล้ำให้ประเทศไทยแน่นอน

ติดตาม ProgressTH.org ใน Facebook ที่นี่ และ Twitter ที่นี่