ดอนผิงแดดโมเดล : ปราชญ์เฒ่าเมืองเพชรผนึกกำลัง ส่งผ่านความรู้เกษตรอินทรีย์ หวังคนรุ่นหลังมีชีวิตมั่นคง

25 เม.ย. 2559- ProgressTH.org - เรื่องราวการสร้างความก้าวหน้าเพื่อสังคมไทย ถูกเปิดเผยผ่าน www.progressTH.org เว็บไซต์ว่าด้วยเรื่องการสร้างความก้าวหน้า ว่า ที่จังหวัดเพชรบุรีมีการรวมตัวของปราชญ์ชาวบ้านกลุ่มหนึ่ง ในนาม ศูนย์เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้าน บ้านดอนผิงแดด จ.เพชรบุรี  เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์และการดำเนินชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้คนรุ่นลูกรุ่นหลานมีความมั่นคงในชีวิต และยังหวังเพื่อที่จะเป็นต้นแบบความร่วมมือร่วมใจไปสู่พื้นที่อื่นๆของประเทศด้วย


ปราชญ์ชาวบ้านอาวุโสของจังหวัดเพชรบุรีได้รวมตัวกัน  เพื่อถ่ายทอดความรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์และแนวทางการใช้ชีวิตตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียงให้กับประชาชนที่สนใจเพื่อสร้างความมั่นคงยั่งยืนในชีวิต  ที่ศูนย์เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้าน  ต.ดอนผิงแดด อ.เมือง จ.เพชรบุรี 

การเกิดขึ้นของศูนย์ปราชญ์ฯแห่งนี้ถือเป็น “ต้นแบบ” ของการสร้างการเปลี่ยนแปลง ที่เริ่มจากตัวเองและขยายไปสู่ชุมชน โดยเฉพาะ จาก “เกษตรเชิงเดี่ยวที่ใช้เคมี” มาเป็น “เกษตรอินทรีย์” ซึ่งถือว่าไม่ง่าย เพราะไม่มีหลักประกันเรื่องผลผลิต แต่ปราชญ์เหล่านี้ได้พิสูจน์แล้วว่า การเปลี่ยนแปลงเพื่อชีวิตที่ดีกว่า ไม่มีคำว่าสาย อายุไม่ใช่ปัญหา ทุกอย่างเป็นเรื่องของใจเท่านั้น และนี่คือเรื่องราวที่เกิดขึ้นที่ศูนย์ปราชญ์ฯ แห่งนี้

ชีวิตวิกฤตจากเกษตรเชิงเดี่ยว 

ลุงประสิทธิ์ เกิดโภชน์ อายุ 57 ปี ตัวแทนกลุ่มฯ ย้อนความการรวมตัวของพวกเขาว่า ได้เกิดขึ้นเมื่อปี 2544 ซึ่งเป็นปีที่ชีวิตพวกเราวิกฤตกันมาก มีอาชีพทำนาแต่มีหนี้สิ้นกันทุกคน จุดเปลี่ยนเกิดขึ้นเมื่อ อาจารย์สุพรชัย มั่งมีสิทธิ์ นักวิชาการจากสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ลงพื้นที่สำรวจความเป็นอยู่ของชาวบ้าน และพบว่าชาวบ้านที่ดอนผิงแดดมีหนี้สินจำนวนมากเพราะการทำเกษตรเชิงเดี่ยวใช้สารเคมีจำนวนมาก จึงชวนทุกคนไปดูงานที่ ศูนย์เกษตรธรรมชาติคิวเซ จ.สระบุรี ว่าเกษตรอินทรีย์สามารถเป็นทางเลือกใหม่ที่ทำให้ทุกคนมีชีวิตที่ยั่งยืนได้ 

“ตอนนั้นชาวบ้านที่นี่สุขภาพทรุดโทรม หน้าตาหมองคล้ำ ตอนที่อาจารย์มาบอกเราก็ไม่ค่อยเข้าใจว่าจะลดปุ๋ยเคมีและยาแมลงแล้ว จะเอาผลผลิตมาจากไหน แต่เมื่อมองดูสภาพความเป็นอยู่ของตัวเองที่มีแต่แย่ลงๆ จึงตัดสินใจที่จะเปิดใจมองหาข้อมูลใหม่ๆ แม้ไม่ค่อยมีเงินแต่ก็ยอมเสียค่ารถกันไปเอง เพราะอยากจะเปลี่ยนแปลง 

การไปดูงานครั้งนั้นถือเป็นการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ครั้งสำคัญของพวกเรา ว่าเราคงไม่สามารถอยู่ในวงจรเดิมๆ ที่ใช้ปุ๋ยเคมีย่าฆ่าแมลงได้อีกต่อไป เพราะมีแต่ขาดทุน ตอนนั้นอายุพวกเราก็มากกันแล้ว แม้การเปลี่ยนจะยาก เพราะไม่มีหลักประกันว่าข้าวที่เราปลูกจะเป็นเช่นไร ผลผลิตจะเหมือนเดิมหรือไม่ แต่ก็มั่นใจว่าเราต้องทำได้ อย่างน้อยสุขภาพต้องดีขึ้น ไม่มีคำว่าสายสำหรับการเปลี่ยนแปลง” 



หักดิบสู่เกษตรอินทรีย์ ปลดหนี้มีความสุข 


ลุงประสิทธิ์เล่าต่อไปว่า หลังกลับมาจากสระบุรี สมาชิกในกลุ่มที่ตอนนั้นมี 16 คน ได้ตัดสินใจเปลี่ยนจากนาเคมีเป็นนาอินทรีย์ทันที พร้อมหาความรู้เพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็น การทำหัวเชื้อจุลินทรีย์ชีวภาพ การทำปุ๋ยหมักแบบต่างๆ การเลี้ยงไส้เดือน การเผาถ่านเพื่อสกัดน้ำส้มควันไม้และการใช้สมุนไพรต่างๆ ใช้แทนยาฆ่าแมลง อีกทั้งยังนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่น การใช้โซลาเซลล์กับระบบน้ำผสมกับระบบท่อ Venturi เพื่อให้ปุ๋ยกับน้ำในเวลาเดียวกัน 

รวมถึงเรื่องพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นการทำแก๊สชีวภาพที่ได้ทั้งแก๊สและปุ๋ย การทำไบโอดีเซลช่วงน้ำมันราคาแพง การทำเตาชีวมวล รวมถึงการทำของใช้ที่จำเป็น ไม่ว่าจะเป็น สบู่ แชมพู น้ำยาเอนกประสงค์ ทั้งหมดทั้งปวงเพื่อลดรายจ่ายและพยายามพึ่งตัวเองให้มากที่สุดตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง ซึ่งผลที่ตามมาคือ สุขภาพของสมาชิกในครอบครัวดีขึ้นและสามารถปลดหนี้ได้ ทำให้ครอบครัวพบกับความสุขที่แท้จริง 



มากกว่าการลงมือทำ คือการถ่ายทอดเรื่องราว? 

สำหรับการจัดตั้งศูนย์ปราชญ์ฯนั้น เกิดขึ้นเมื่อปี 2549 เมื่อ อาจารย์ไตรพันธ์ คงกำเนิด ซึ่งเป็นนักวิชาการเกษตรได้ลงพื้นที่และชวนให้ทางกลุ่มร่วมประกวดเป็นศูนย์ปราชญ์ชาวบ้าน ซึ่งทางกลุ่มก็สนใจเพราะคิดว่าแนวทางนี้อาจจะเป็นสามารถช่วยชาวนาคนอื่นๆได้บ้าง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะทุกคนต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่กันหมดเพื่อฝึกถ่ายทอดเรื่องราว

 ลุงประสิทธิ์ ขยายความว่า การประกวดครั้งนั้นแม้ทุกคนจะมีประสบการณ์กับการทำเกษตรอินทรีย์เป็นอย่างดี แต่ปรากกฎว่าเมื่อถึงเวลาประกวดจริงๆ ทางกลุ่มกลับไม่สามารถอธิบาย บอกเล่าเรื่องราว แนวทางการจัดตั้งศูนย์ ต่อหน้าผู้ร่วมงานได้ เพราะตั้งแต่เกิดมาไม่มีใครเคยจับไมค์พูดต่อที่สาธารณะมาก่อน ทุกคนตื่นเต้นพูดไม่ออก ไม่มีใครสามารถถ่ายทอดเรื่องราวได้ ทำให้ไม่ผ่านการคัดเลือก 

“เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ทีมรู้สึกท้อ เพราะมั่นใจว่าทางกลุ่มมีผลงาน ทำทุกอย่างกับมือ มีประสบการณ์มากพอ แต่แค่ไม่สามารถถ่ายทอดเรื่องราวได้ อย่างไรก็ตามทุกคนตัดสินใจไม่ยอมแพ้ และแก้ไขข้อผิดพลาดด้วยการฝึกพูดต่อสาธารณะทุกวัน โดยจัดฉากเหมือนมีเวทีและจับเวลาให้พูดตามเรื่องที่กำหนด โดยมีอาจารย์ไตรพันธุ์ เป็นผู้ฝึกสอนอย่างใกล้ชิด ทุกคนพร้อมใจฝึกฝนอย่างหนัก แม้จะอายุขนาดนี้ก็ตาม เพราะเชื่อมั่นในตัวเองว่าจะต้องทำได้” 


ลุงประสิทธิ์ เกิดโภชน์
ในที่สุด อาการกลัวไมค์ก็หายไป ความมั่นใจเข้ามาแทนที่ ทำให้การประกวดศูนย์ปราชญ์ในปีถัดมา (2551)ทีมผู้เฒ่าดอนผิงแดดก็ได้รางวัลดีเด่นให้จัดตั้งเป็นศูนย์ปราชญ์ชาวบ้าน พวกเขาลงมือลงแรงจัดตั้งศูนย์ปราชญ์ทันที ด้วยการซื้อที่ดินท้ายหมู่บ้าน สร้างอาคารอบรมหลังคามุงจาก และทำฐานความรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์ต่างๆแบบครบวงจร เพื่อให้ที่สนใจมาที่นี่ครั้งเดียวเรียนรู้ได้ทุกเรื่อง 

ที่สำคัญปราชญ์ชาวบ้านทุกคนสามารถอธิบายเรื่องราวต่างๆได้อย่างฉะฉาน และทำงานที่ศูนย์อย่างไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย เพราะไม่ใช่แค่เป็นวิทยากรทั้งนั้น แต่ปราชญ์รุ่นคุณลุง คุณตา ทุกคนต้องทำทุกอย่างเพื่อดูแลศูนย์ ไม่ว่าจะเป็น การทำความสะอาดสถานที่ การเสิร์ฟอาหารว่าง การทำอาหาร ซึ่งสร้างประทับใจให้กับผู้เข้าร่วมเป็นอย่างมาก


 นอกจากเป็นวิทยากรแล้ว ปราชญ์อาวุโสเหล่านี้ยังทำหน้าที่ดูแลความเรียบร้อยทุกอย่างของการจัดการอบรม ซึ่งรวมถึงการเสิร์ฟของว่างให้ผู้อบรมรุ่นลูกรุ่นหลานด้วย





ทฤษฎีแน่นปฏิบัติจริง ลงพื้นที่ช่วยชาวบ้าน 

ศูนย์ปราชญ์ชาวบ้านแห่งนี้ นอกจากมีเฒ่าดอนผิงแดดเป็นแกนหลักในการเป็นวิทยากรแล้ว อาจารย์ไตรพันธ์ ในฐานะนักวิชาการเกษตรของจังหวัด และผู้อยู่เบื้องหลังการจัดตั้งศูนย์แห่งนี้ ยังได้รวบรวมเกษตรกรดีเด่นจากอำเภอต่างๆของจังหวัดเพชรบุรี มาร่วมเป็นวิทยากร ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ต่างๆ ให้กับประชาชนที่เข้าร่วมอบรม ยิ่งทำให้ศูนย์แห่งนี้มีพลังมากยิ่งขึ้น   

โดยการอบรมที่นี่ครึ่งวันแรกจะเป็นทฤษฎี ส่วนในภาคบ่ายจะเป็นการปฏิบัติ เพื่อให้ทุกคนได้ลงมือทำในฐานการเรียนรู้ต่างๆ เพราะฉะนั้น มาที่นี่ได้เรียนรู้ลงมือทำจริง มือเปื้อนดินแน่นอน โดยบางรุ่นหากมากันเป็นหมู่บ้านก็สามารถลงมือปฏิบัติโครงการต่างๆ ของหมู่บ้านได้เลย โดยมีวิทยากรจากดอนผิงแดดไปลงพื้นที่ด้วย ไม่ว่าจะเป็น การสร้างเตาถ่าน  การทำโรงเรียนปลูกผัก การสร้างโรงสูบน้ำโซล่าเซลล์ เป็นต้น 

นอกจากนี้ปราชญ์เหล่านี้ยังริเริ่มจัดทำโครงการปราชญ์น้อยคืนถิ่น เพื่อส่งเสริมให้ลูกหลานรักถิ่นบ้านเกิด โดยทุกโครงการมักจะมีเด็กๆมาร่วมด้วยเสมอ อีกทั้งยังเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันการสร้างตลาดนัดเกษตรอินทรีย์ของจังหวัดเพชรบุรี รวมถึงการสนับสนุนการจัดก่อตั้ง สหกรณ์บริการสินค้าเกษตรอินทรีย์เพชรบุรีจำกัด ซึ่งเป็นสหกรณ์เพื่อเกษตรอินทรีย์แห่งแรกของประเทศไทย โดยมีกลุ่มคนรุ่นใหม่และผู้มีความรู้ด้านต่างๆ ของจังหวัดร่วมขับเคลื่อนให้เพชรบุรีเป็นเมืองสีเขียวที่เป็นต้นแบบทั้งด้านการผลิต การบริการ การบริโภค ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 

ทั้งหมดนี้ คือ ต้นแบบแห่งการร่วมมือร่วมใจ การก้าวไปข้างหน้า การสร้างชีวิตที่มั่นคงให้กับตนเอง ชุมชน และ ประเทศชาติ อย่างมีพลัง ซึ่งถ้าคนเฒ่าคนแก่แบบที่ดอนผิงแดดสามารถทำได้ ทุกคนในทุกพื้นที่ของประเทศไทยสามารถทำได้ ซึ่งหากทุกจังหวัดมีศูนย์เรียนรู้แบบนี้ การพัฒนาสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วแน่นอน

กลุ่มผู้ร่วมอบรมกำลังรับฟังขั้นตอนการเผาถ่านโดยถัง 200 ลิตร  รวมการผลิตน้ำส้มควันไม้  ซึ่งที่ศูนย์แห่งนี้สร้างเตาไว้ถึง  3 เตาเพื่อให้ผู้เข้าร่วมเห็นภาพชัดเจน  

ติดตาม  ProgressTH.org   Facebook ที่นี่ หรือ Twitter ที่นี่ 

 ทีมดอนผิงแดดโมเดล 
  • อาจารย์ไตรพันธ์ คงกำเนิด อายุ 60 ปี นักวิชาการเกษตรสไตล์เพื่อชีวิต  ผู้ริเริ่มการจัดตั้งศูนย์จะเสนอหลักคิดเศรษฐกิจพอเพียง อะไรที่ทำได้ต้องทำเองและลงมือทำทันที  
  • อาจารย์สุพรชัย มั่งมีสิทธิ์ เรื่อง แนวทางการลดใช้สารเคมี และ ย้ำถึงความเข้าใจผิดของคนไทยที่คิดว่ายิ่งใส่ปุ๋ยเคมียิ่งมากยิ่งดี ซึ่งเป็นหลักการที่ผิดและทำให้ดินเสื่อมโทรมได้ เกษตรไทยต้องรู้จักวัดดินเพื่อหาค่า NPK ก่อน เพื่อที่จะได้ใส่ปุ๋ยตรงกับความต้องการของพืช
  •  ลุงแจะ บุญส่ง เพชรพุก อายุ 68 ปี ความรู้เรื่องการทำเตาชีวมวลติดไฟง่าย ให้ความร้อนกว่าสองเท่า ประหยัดถ่านมากกว่า โดยลุงแจะบอกวิธีการทำอย่างละเอียด 
  • ลุงพนม ธรรมวิชัยพันธ์ อายุ 63 ปี การทำจุลินทรีย์ การทำปุ๋ยหมัก ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของเกษตรอินทรีย์และการปลูกผักสลัดแบบง่ายๆ ที่ทุกคนสามารถปลูกได้ 
  • ลุงบัวลอย พิมพามา อายุ 72 ปี กับการเผาถ่าน 200 ลิตร และการทำน้ำส้มควันไม้สารพัดประโยชน์
  •  ลุงเปีย สวาท เกตุมงคล อายุ 69 ปี มือปราบศตรูพืช ที่เปิดประเด็นประสบการณ์แพ้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงจนต้องเข้าห้อง ICU  หลังจากออกจากโรงพยาบาลได้หันหลังให้กับสารเคมีอย่างสิ้นเชิง และหันมาศึกษาการใช้สมุนไพรกำจัดศตรูพืช จนเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง
  • ลุงน้อย สุริยะ ชูวงศ์ อายุ 59ปี เกษตรกรดืเด่นแห่งชาติ บอกเคล็ดลับละเอียดยิบทำการเกษตรผสมผสานอย่างไรให้ได้ราคาสูงๆ โดยเฉพาะการบังคับพืชให้ออกผลผลิตให้ตรงกับเทศกาลๆ
  •  ณัศพงษ์ เพชรพันธ์ช่าง อายุ 53 ปี การเลี้ยงไส้เดือนต่อยอดเกษตรอินทรีย์ 
  • ลุงประสิทธิ์ เกิดโภชน์ อายุ 57 ปี การทำน้ำยาเอนกประสงค์เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย 
  • อนุพงษ์ ตรงจริง อายุ 32 ปี อดีตวิศกรที่หันมาเอาดีด้านการเกษตร เชี่ยวชาญเรื่องโซ่ลาเซลล์ และเลือกทำการเกษตรแบบคนขี้เกียจ เพราะทุกอย่างในไร่เขามักจะตั้งเวลาเป็นอัตโนมัติทั้งหมด เหตุที่เด็กที่สุดในกลุ่ม เพราะศรัทธาการทำงานของอาจารย์ไตรพันธ์ จึงขออาสาทำงานช่วยชาวบ้าน โดยติดตามอาจารย์ไตรพันธ์ลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง 
  •  สำราญ อ่วมอั๋น อายุ 46 ปี ผู้จัดการศูนย์ฯรับอาสาประสานงาน ลงพื้นที่ให้ความรู้กับชุมชน 
ภาพการทำงานของกลุ่มปราชญ์ดอนผิงแดด