จาก "พยาบาล" สู่ "Maker Nurse" มิติใหม่แห่งการแพทย์ไทย

10 ก.ค. 2559 - Progress Thailand   - หากจะเอ่ยถึงคำว่า "Maker" หรือ นักประดิษฐ์สิ่งของใหม่ต่างๆ หลายคนคงคิดถึง ผู้ชายทั่วไปที่ชอบงานช่าง งานDIY (Do it yourself) และสนใจเรื่องเทคโนโลยี แต่ใครจะคิดว่า "พยาบาล" ก็เป็น Maker ได้ หรือที่เราเรียกว่า "Maker Nurse" ซึ่งผลงานที่ Maker Nurse สร้างนั้นมีคุณค่าและช่วยให้การรักษาผู้ป่วยมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 



จาก "พยาบาล" สู่ "Maker" ?

ทั้งนี้เพราะการรักษาการเจ็บป่วยของคนไข้มีความซับซ้อนมากกว่าการซ่อมรถยนต์หรือคอมพิวเตอร์  เนื่องจากร่างกายคนเรามีความซับซ้อนอีกทั้งแต่ละคนยังมีเงื่อนไขเฉพาะของอาการที่ป่วยว่าจะตอบรับการรักษาหรือไม่ ทำให้แพทย์และพยายาบาลจะต้องหาวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพที่สุด เร็วที่สุด และใช้งบประมาณน้อยที่สุด เพื่อที่ผู้ป่วยทุกคนจะสามารถเข้าถึงการรักษาได้  

ด้วยเหตุนี้ทำให้ "พยาบาล"ซึ่งเป็นผู้ที่ดูแลผู้ป่วยมากที่สุด  จึงกลายเป็น Maker  Nurse โดยปริยายเพราะรู้ว่าอะไรคือปัญหาและต้องแก้ไขอย่างไร  เนื่องจากเป็นปัญหาเฉพาะหน้าที่ต้องเจอทุกวัน  ทำให้มีไอเดียต่างๆมากมาย  ที่จะทำสิ่งประดิษฐ์มาช่วยในการรักษาคนไข้ให้ได้ผลดีมากขึ้น โดยเครื่องมือดังกล่าวมักจะเป็นเครื่องมือเฉพาะหาที่ซื้อไม่ได้ในท้องตลาดทั่วไปต้องทำขึ้นมาเอง  

Progress Thailand 
 ได้รู้จัก Maker Nurse ครั้งแรกที่ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี  หรือ โรงพยาบาลเด็ก ซึ่งมีแผนกนวัตกรรมที่พยายามคิดค้นและประดิษฐ์เครื่องมือแพทย์ต่างๆจากไอเดียของพยาบาล เพื่อนำมาใช้กับผู้ป่วยในโรงพยาบาลอย่างต่อเนื่อง

โดยหลังจากได้ไอเดียมาแล้ว ต้องผ่านกระบวนการต่างๆ ทั้งการจ้างนักออกแบบ การสั่งโรงงานให้ผลิตซึ่งต้องสั่งครั้งละมากๆ ทำให้ใช้เวลาและงบประมาณจำนวนมาก ทั้งที่บางอย่างเป็นอุปกรณ์เฉพาะที่ใช้ต่อคนไข้เฉพาะรายเท่านั้น  ไม่มีความยืดหยุ่น หรือประดิษฐ์เฉพาะกรณีได้ 




จากเหตุผลดังกล่าวทำให้โรงพยายาบาลเด็ก  ได้ทำงานร่วมกับทีมProgress Thailand  เพื่อให้ช่วยผลิตอุปกรณ์การแพทย์ที่เป็นผลงานต้นแบบที่พิมพ์จาก “เครื่องพิมพ์ 3 มิติ” ซึ่งทำให้กระบวนการผลิตไม่ยุ่งยากซับซ้อนอีกต่อไปแล้ว เพราะสามารถแปลงสิ่งที่เป็น “ไอเดีย” สู่ “ความจริง” ด้วยการขึ้นโมเดลและพิมพ์ออกมาได้อย่างรวดเร็ว  

ตลอดระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา ทีม Progress Thailand ได้ประสานกับโรงพยาบาลเด็กอย่างต่อเนื่อง โดยทำหน้าที่ออกแบบสิ่งของต่างๆโดยที่พยาบาลจะบอกไอเดียและเล่าปัญหาพร้อมกับวาดรูปวัตถุที่ต้องการผลิตให้เราได้เห็นภาพว่าสิ่งที่จะทำนั้นจะมีหน้าตาออกมาเป็นอย่างไร  มีลักษณะเหมือนอะไร 

ในที่สุดเราก็สามารถผลิตผลงานจากไอเดียของ  Maker Nurse เพื่อนำไปเป็นต้นแบบหรือทดลองใช้  ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการผลิตได้ ไม่ว่าจะเป็น ตัววัดระดับเตียง เครื่องกดเลือด ที่ทิ้งเข็มฉีดยา และ มีดแฟนซีเพื่อหนูน้อย  เป็นต้น  โดยสิ่งประดิษฐ์เหล่านี้ มักเป็นสิ่งที่เราไม่เคยเห็นหรือคาดไม่ถึงมาก่อน เพราะเป็นสิ่งที่มาจากการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า/กรณี  ต้องเป็นผู้ที่ทำงานตรงนั้นถึงจะสามารถคิดได้  

เดินหน้าจัดเวิร์คช็อปปั้น "Maker Nurse" 

เพื่อเป็นการพัฒนาโครงการดังกล่าว ใน วันพุธที่ 13  ก.ค. 2559 เวลา 12.00 น.เป็นต้นไป   ทางโรงพยาบาลเด็ก ได้เตรียมจัดเวิร์กช็อป ในหัวข้อ “ ความรู้การออกแบบ 3 มิติเบื้องต้น ( Basic 3D Design & 3D Printing)  โดยทีม Progress Thailand  เพื่อต่อยอดให้พยาบาลสามารถมีทักษะในการออกแบบและขึ้นโมเดล 3 มิติได้ 

การจัดอบรมดังกล่าว ถือเป็นมิติใหม่ทางการแพทย์  เพราะเป็นก้าวแรกของการผลักดัน Maker Nurse ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย  และอาจจะเป็นครั้งแรกที่พยาบาลจะเพิ่มทักษะเรื่องการนักประดิษฐ์และออกแบบเองอย่างเต็มตัว เพื่อนำไปปรับใช้กับงานและให้การผลิตอุปกรณ์การแพทย์เพื่อนำไปใช้ในการทำงานได้อย่างรวดเร็ว  เพราะสามารถคิด สร้างโมเดลและพิมพ์ออกมาเป็นวัตถุได้ทันที 


ผลักดัน Makerspace ในโรงพยาบาล 

 เป้าหมายในระยะยาว ทีม Progress Thailand  ต้องการเห็นทุกโรงพยาบาลมี Makerspace  เป็นของตนเอง เพื่อให้การผลิตเป็นแบบ In house ที่สามารถทำในโรงพยาบาลได้เลย  ซึ่งจะทั้งประหยัดเงินและเวลา  เพราะหากใช้การผลิตรูปแบบเดิมต้องผลิตจำนวนมาก หากผิดพลาดต้องเสียเงินค่าออกแบบอีกรอบ  ผิดกับการใช้เครื่องพิมพ์สามมิติ ที่สามารถทำงานเฉพาะ Custom made พิมพ์ได้ทีละชิ้น ผิดก็แก้ใหม่ และสามารถทำขนาดต่างๆตามที่ต้องการ และราคาถูกกว่า 

ทั้งนี้เรื่อง Maker Nurse และ  Makerspace ในโรงพยาบาลไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด เพราะได้เกิดขึ้นแล้วที่สหรัฐ โดยการริเริ่มของ  สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์( MIT) และมีการสร้าง Makerspaceในโรงพยาบาลแห่งแรก ที่ University of Texas Medical Branch hospital,  เมือง Galveston  



โดยภายใน Makerspace  จะมีเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ เพื่อใช้สร้างผลงานต้นแบบ  ไม่ว่าจะเป็น เครื่องพิมพ์3 มิติ  เครื่องตัดเลเซอร์  อุปกรณ์อิเลคทรอนิค   เพื่อให้พยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ได้สามารถประดิษฐ์เครื่องมือแพทย์แบบ DIY  ได้เลย  โดยมีนักออกแบบที่มีความรู้ ช่วยอำนวยความสะดวก  เพื่อให้การประดิษฐ์ต่างๆทำได้รวดเร็วมากขึ้น  โดยสองปีที่ผ่านมาพบว่า การสร้าง Makerspace ในโรงพยาบาล  ส่งผลให้เกิดไอเดียและสิ่งประดิษฐ์ต่างๆมากมายจากพยาบาล   ที่สามารถนำไปปรับใช้กับการรักษาผู้ป่วยได้อย่างทันท่วงที 

แทบไม่น่าจะเชื่อว่า แม้จะอยู่ไกลกันคนละซีกโลก แต่ Maker Nurse ทั้งของไทยและ สหรัฐ ต่างมีโจทย์เดียวกัน   ในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่โรงพยาบาลมีผู้ป่วยที่มีแตกต่างกันหลายแบบตามอาการของโรค  และเพื่อต้องการให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น  ดังนั้น   Maker Nurse และ Makerspace ในโรงพยาบาลจึงเป็นแนวทางที่ก้าวหน้าและเป็นมิติใหม่ของวงการแพทย์อย่างแท้จริง


ติดตาม  ProgressTH.org   Facebook ที่นี่ หรือ Twitter ที่นี่