บทเรียน 10 ข้อ รับมือ Covid19 สู่สังคม Resilient

 31 มี.ค. 2564 - ProgressTH- By Katibza 

ผ่านมาเป็นเวลา 1 ปีแล้ว กับวิกฤตโควิด 19 ซึ่งถือว่าเป็นหายนะครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2  สร้างความเสียหายไปทั่วโลก และยังไม่มีทีท่าว่ายุติเมื่อไหร่ แบบไหน อย่างไร 

อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าคิดว่า 1 ปีมานี้ เราได้เรียนรู้อะไรจากวิกฤตครั้งนี้บ้าง  เพื่อที่จะเป็นบทเรียนและแนวทางสำคัญให้เรารับมือวิกฤตต่างๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างเข้มแข็งพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงได้เสมอ(Resilient) 

เครดิตภาพจาก  https://www.circular-solutions.eu/news/how-to-build-back-better-after-covid-19/


1. เราต้องขยับให้เร็ว

โดยบทเรียนนี้ได้มาจากประเทศไต้หวันที่มีการรับมือโควิด19เชิงรุก ด้วยวัดอุณหภูมิผู้ และ Quarantine ประชาชนที่เดินทางมาจาก อู๋ฮั่น ที่สยามบินทันที  ผลจากปฏิบัติการเชิงรุกแบบนี้ทำให้ไต้หวันมีตัวเลขผู้ติดเชื้อและผุ้เสียชีวิตน้อยมาก  (ข้อมูลวันที่ 1 เม.ย. 2564) มีผู้ติดเชื้อ  1024 คน และเสียชีวิตเพียงแค่ 10 คน เท่านั้น 

2.โลกได้เรียนรู้การควบคุมการระบาดของไวรัส   

เราได้รู้จักคำว่า Quarantine, Lockdown, Social Distaning  ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติสำคัญที่ทำให้ลดการระบาดของไวรัส เพื่อ  Flatting the Curve  ให้ตัวเลขการติดเชื้อลดลงเป็นศูนย์ได้ 

3.Lock Down พูดง่ายแต่ทำยาก

  เพราะการ Lockdown เป็นมาตรการการหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ หรือ พูดง่ายๆ คือ การสั่งหยุดการทำมาหากิน ซึ่งในทางปฏิบัติเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะเรื่องปากท้องสำคัญที่สุด จะ Lockdown ได้อย่างไร ถ้าต้องหาเช้ากินค่ำหรือไม่มีเงินเก็บอยู่เลย ดังนั้น การ Lockdown จึงส่งผลกระทบสูงมาก  จึงไม่แปลกใจที่หลายประเทศหลายพื้นที่ลังเลใจในการประกาศ Lockdown ขณะที่บางประเทศก็มีการประท้วงคำสั่ง Lockdown 

4.เรื่องสิทธิข้อมูลส่วนบุคคล กับ ประโยชน์สาธารณะ ต้องมีสมดุลชัดเจน 

เพราะโควิด19 ต้องมีการ Tracking ผู้ติดเชื้อว่ามี  Timeline อยู่ที่ไหน อย่างไร  โดยประสบการณ์ของประเทศไทย  เช่น การ Check in app  ไทยชนะ ว่าเราไปที่ไหนมาบ้าง ซึ่งนำมาถึงคำถามว่านี่คือการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลหรือไม่อย่างไร    

อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติในทางวิกฤตแบบนี้ถือว่าสำคัญมาก เพราะข้อมูลดังกล่าวสามารถช่วยได้มีการแจ้งเตือน  การตรวจเชิงรุกต่างๆ ทำได้ง่ายมากขึ้น  เช่น กรณีโควิด 19 ที่ระยอง ที่มีการแจ้งเตือนผู้ที่ไปเดินห้างในเวลาเดียวกับผู้ติดเชื้อได้อย่างทันท่วงที 

5.ความไว้วางใจต่อรัฐของประชาชนเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด 

ภายใต้วิกฤตโควิด19 เราได้พบปรากฎการณ์ที่สำคัญอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน คือ การที่คนกว่าครึ่งโลกถูก Lock Down ซึ่งถือเป็นปฏิบัติการร่วมกันที่ใหญ่ที่สุดของมนุษยชาติ เพื่อต่อสู้กับโคโรน่าไวรัส การดำเนินการที่ประสบความสำเร็จนั้น รัฐบาลต้องได้รับ "ความไว้วางใจ" จากประชาชน  ที่จะต้องมีความเชื่อมั่นว่าคำสั่ง "Lock Down" ดังกล่าว เป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน ความไว้วางใจดังกล่าวจะเป็นกุญแจ/ปัจจัย สำคัญ ที่ทำให้รัฐบาลสามารถนำนโยบายต่างๆไปปฏิบัติได้ 

6.ผู้นำที่ปฏิเสธวิทยาศาสตร์ยากที่จะเอาชนะโควิด 19  

  ต้องยอมรับว่าในวิกฤตโควิด 19 ที่ผ่านมา ได้สร้างทั้งคะแนนนิยมที่เพิ่มขึ้นให้กับผู้นำในประเทศต่างๆ ยกเว้น นายโดนัลด์ ทรัมป์  ประธานาธิบดีสหร้ฐ และ นายฌาอีร์ โบลโซนารู ประธานาธิบดีบราซิล ที่คะแนนนิยมลดลงอย่างมาก เพราะไม่ให้ความสำคัญกับข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และทางการแพทย์ว่าโควิด19 เป็นเรื่องจริงไม่ใช่ทฤษฎีสมคบคิด ( Conspiracy Theory) ซึ่งทั้ง 2 คน ต่างก็ติดเชื้อโคโรนาไวรัส อีกทั้งประชาชนทั้ง 2 ประเทศก็ติดเชื้อโควิด19 สูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก 

7.การพึ่งพาตนเองเป็นเรื่องสำคัญ 

การระบาดของโควิด19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลกในเวลาพร้อมกัน ทำให้เราได้เห็นภาพการขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหน้ากากอนามัย ชุดและอุปกรณ์การป้องกันทางการแพทย์ (Personal Protective Equipment : PPE) และ น้ำยาแอลกอฮอล์ เป็นต้น ซึ่งคนไทยคงเข้าใจเป็นอย่างดี โดยเฉพาะในช่วงแรกๆของการเกิดวิกฤตที่มีขาดแคลนทุกอย่าง จนต้องมีการลงทุนทำชุดและหน้ากากแบบ Handmade กันเอง เพื่อแก้ปัญหาไปก่อน  ซึ่งประเทศไทยโชคดีที่เป็นประเทศแห่งความมีน้ำใจ ทำให้เราผ่านวิกฤตนั้นและสถานการณ์เริ่มเข้าที่เข้าทางในที่สุด 

โดยประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป ได้เพิ่มความสำคัญเรื่อง "กลยุทธ์การพึ่งตนเอง" “Strategic Autonomy” เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่มีภาวะการขาดแคลนอาหารและสินค้าที่จำเป็น ( Essential Goods) ไม่ว่าจะเป็นอาหาร หรือ ยา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องผลิตได้ในประเทศ ไม่ใช่รอการนำเข้าจากประเทศอื่นๆอย่างเดียว 

8. โลกไม่สามารถเอาชนะไวรัสได้หากไม่ร่วมมือกัน 

 อาจจะกล่าว่าไวรัสโคโรนาเกิดขึ้นในช่วงที่โลกมีความร่วมมือกันในจุดที่ต่ำที่สุด ทั้งที่ก่อนหน้านั้นโลกเคยได้เรียนรู้จากการเกิดระบาดของโรคซาร์ในปี 2550 ว่าการร่วมมือและแบ่งปันข้อมูลและทรัพยากรร่วมกันเป็นสิ่งสำคัญ แต่ก็ไม่ได้เกิดชึ้นอย่างเป็นรูปธรรมมากนัก 

จนกระทั่งการเกิดขึ้นของโควิด 19  จึงทำให้เราได้รู้ว่าเราไม่มีแผนการรับมือโรคระบาดร่วมกันของโลกเลย ทำให้การรับมือเป็นไปโดยขาดเอกภาพ บางประเทศประกาศ Lock Down บางประเทศไม่กล้าประกาศเพราะกลัวเรื่องผลกระทบต่อเศรษฐกิจ 

 ทำให้ไวรัสซึ่งไร้พรมแดนไม่สามารถถูกควบคุมได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันทีท่วงทีทั่วกันทั้งโลกและเกิดการขยายตัวไปที่ต่างๆไม่รู้จบแบบที่เป็นอยู่ ทั้งที่หากโลกมีความเป็นเอกภาพต่อสู้ไวรัสพร้อมกัน อาจจะทำให้ไวรัสกระจายตัวช้ากว่านี้และสามารถสร้างความ "สมดุล" ทั้งทาง "สาธารณสุข" และ "เศรษฐกิจ" มากกว่านี้ 

เพราะฉะนั้น นี่จึงเป็นบทเรียนที่สำคัญว่าโควิด 19 เป็นปัญหาของโลก และโลกต้องช่วยกันแก้ปัญหา ซึ่งต้องจับตาว่าในปีนี้ซึ่งเป็นปีแห่งความหวังว่าจะมี "วัคซีน"  มาหยุดยั้งการระบาดของโควิด19 เราจะได้เห็นความร่วมมือเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของมนุษยชาติในการกระจายวัคซีนที่จะเกิดขึ้นในไม่ช้าอย่างไรบ้าง ซึ่งก็ได้แต่หวังว่าจะไม่มีใครถูกทิ้งอยู่ข้างหลัง (No one is left behind) 

9. โควิด19 Social Safety Net ต้องเป็นรูปธรรม 

ต้องยอมรับว่าวิกฤตโควิด19  ได้สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจทั่วโลก เหมือนในช่วงหลังเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือเมื่อ 75 ปีที่ผ่านมา  บริบทที่เกิดในประเทศไทยนั้นประชาชนได้รับผลกระทบทุกหย่อมหญ้าและหนักกว่าวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 เพราะครั้งนี้ประเทศมีการ Lock Down หยุดการดำเนินการทางเศรษฐกิจทั้งหมด โดยเฉพาะการท่องเที่ยวและบริการซึ่งถือเป็นรายได้หลักของประเทศ อีกทั้งยังมีคนตกลงงานจำนวนมาก

 รัฐบาลไทยจำเป็นต้องมีการออกมาตรการทางสังคม(Social Safety Net ) เพื่อช่วยเหลือประชาชนในเรื่องการช่วยเหลือเรื่องรายได้ให้ประชาชนมีเงินใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น โครงการเราไม่ทิ้งกัน โครงการคนละครึ่ง โครงการเราเที่ยวด้วยกัน เป็นต้น เพื่อให้ประชาชนมีเงินจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวัน  ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่การช่วยเหลือเฉพาะหน้าเท่านั้น 

 รัฐบาลควรใช้โอกาสนี้ในการวางระบบสวัสดิการที่ให้ประชาชนทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงได้ ไม่ใช่เฉพาะข้าราชการ หรือ พนักงานประจำเท่านั้น เพราะสังคมไทยมีคนประกอบอาชีพอิสระจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นอาชีพค้าขาย หรือเกษตรกร โดยเฉพาะงานทางดิจิทัลที่รัฐประกาศสนับสนุนในการขับเคลื่อนนโยบายไทยแลนด์ 4.0  ดังนั้น รัฐบาลควรเพิ่มทางเลือกคนให้เหล่านี้จ่ายเงินเพื่อแลกกับสวัสดิการของรัฐ เพื่อเป็นหลักประกันในชีวิตให้พวกเขาด้วย เพราะรัฐคงไม่สามารถให้เปล่า(แจก) เงินแบบนี้ได้ตลอดไป 

รัฐบาลควรมีการพิจารณาเรื่อง รายได้พื้นฐาน ( Universal Basic Income: UBI) ให้แก่ประชาชน โดยทุกคนจะได้รับเงินจำนวนหนึ่งต่อเดือน ซึ่งเพียงพอต่อการดำเนินชีวิตแบบพื้นฐาน ซึ่งเป็นเทรนด์ที่สำคัญที่รัฐบาลทั่วโลกไม่สามารถมองผ่านได้ ในยุคที่ AIและ หุ่นยนต์ ครองเมือง ซึ่งอาจส่งผลให้ประชาชนตกงานจำนวนมาก หากไม่มีการวางแผนปรับ-เพิ่มทักษะการทำงาน อย่างทันท่วงที ซึ่งเป็นเรื่องที่รับมือยากมาก เพราะการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่มีผลกระทบอย่างรุนแรง (Disrupted) ในหลายอุตสาหกรรม/วิชาชีพ จะเกิดขึ้นเร็วมาก 

 10. การบังคับใช้กฎหมายต้องเข้มแข็ง 

ประเด็นนี้อาจจะเป็นบทเรียนของประเทศไทยโดยตรง โดยเฉพาะการระบาดระลอกที่ 2 ช่วงปลายปี 2563  ที่เราได้เรียนรู้จากการระบาดของโควิด19 ระลอกที่ 2 ที่จ. สมุทรสาคร  ซึ่งมาจากลุ่มแรงงานข้ามชาติที่เข้าเมืองมาอย่างผิดกฎหมาย 

รวมถึงเรื่องบ่อนการพนันต่างๆทั้งทางภาคตะวันตกและภาคตะวันออกที่เป็นต้นเหตุของการแพร่ระบาดของโควิดครั้งนี้ก็เช่นกัน ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องรับผิดชอบและต้องมีการบังใช้กฎหมายกับเจ้าหน้าที่ปล่อยปละละเลยหรือมีส่วนรู้เห็นกับการกระทำผิดดังกล่าวด้วย 

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่เป็นเรื่องที่เกิดความเสียหายของประเทศสูงมาก  เพราะเรารักษาสถิติผู้ป่วยเป็นศุูนย์ได้นานหลายเดือน เพื่อเตรียมพร้อมเปิดการท่องเที่ยวในช่วงปีใหม่ ซึ่งการท่องเที่ยวและการบริการถือเป็นรายได้หลักของประเทศไทย  และเป็นช่วงเวลาที่คนทั้งประเทศรอคอย  

แต่กลายเป็นว่า เรากลับเกิดการระบาดระลอก 2 เพราะคนจำหนึ่งที่ทำผิดไม่เคารพกฎหมาย ดังนั้น เรื่องนี้จึงไม่สามารถยอมได้  ต้องมีการนำตัวผุ้กระทำผิดมาลงโทษ  ไม่เช่นนั้นอาจจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ซ้ำขึ้นมาอีก  ซึ่งไม่ยุติธรรมต่อประชาชนทั้งประเทศที่ต้องได้รับผลกระทบเหล่านี้ไปด้วย และถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ซ้ำอีก ประเทศไทยคงไม่สามารถฟืินฟูจากวิกฤตโตวิด19 ได้

ทั้งหมดนี้เป็นบทเรียน 10 ข้อ ที่เราควรมองไปข้างหน้าด้วยกัน  เพื่อที่จะทำให้เรารับมือโควิด19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพและ Resilient  อย่างแท้จริง 


ติดตาม  ProgressTH.org   Facebook ที่นี่ หรือ Twitter ที่นี่ 

###