"Transformative Learning" เรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน มิติใหม่ในการสร้างบุคลากรระบบสุขภาพให้ตอบโจทย์สังคม

28 มีนาคม 2560  | ProgressTH.org | กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ร่วมผลักดันการเรียนการสอนแบบ Transformative Learning เรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน ปลุกจิตวิญญานการเป็นหมอของประชาชน ซึ่งถือเป็นมิติใหม่ในการสร้างและพัฒนาบุคลากรระบบสุขภาพให้ตอบโจทย์สังคม เพราะการเรียนการสอนดังกล่าวผู้เรียนและผู้สอนต้องลงพื้นที่ชุมชนเพื่อเรียนรู้จากสถานการณ์จริงอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเชื่อมโยงทฤษฎีและนำไปสู่การปฏิบัติงานได้จริงและมีความเข้าใจปัญหาระบบสุขภาพของประเทศอย่างแท้จริง


ล่าสุด เมื่อวันที 27 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา มูลนิธิเพื่อการพัฒนาการศึกษาบุคลากรสุขภาพ (ศสช.) สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) จ.เชียงราย ร่วมกับ องค์การอนามัยโลก (WHO)  ได้จัดการเสวนาเรื่อง “การพัฒนาการศึกษาบุคลากรสุขภาพในศตวรรษที่ 21 โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  ให้การสนับสนุน  โดยมีการระดมผู้เชี่ยวชาญและผู้ที่เกี่ยวข้องระดมความคิดเห็น แลกเปลี่ยนประสบการณ์และลงพื้นที่เพื่อดูการปฏิบัติจริง ทั้งนี้ Transformative Learning ถือเป็นหัวใจสำคัญสำหรับการจัดการศึกษาบุคลากรสุขภาพ เพราะเป็นการเปลี่ยนไปสู่การศึกษาระบบสุขภาพเพื่อระบบสุขภาพ ไม่ใช่แค่เพื่อตัวเองหรือเพื่อวิชาชีพตนเอง แต่เพื่อตอบสนองด้านสุขภาพของประชาชน 

งานเสวนาดังกล่าว จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการเปลี่ยนแนวทางการผลิตบุคลากรด้านสุขภาพในพื้นที่ภาคเหนือให้มีคุณภาพและศักยภาพ ตรงตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านสาธารณสุข (2560-2579) ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่ต้องการผลิตหมอ-พยาบาลให้เป็นทั้งคนดีและคนเก่งและมีจิตวิญญานของความเป็นแพทย์ที่ต้องการรักษาประชาชนอย่างแท้จริง โดยมีค่านิยมหลัก (Core Value) ที่เรียกว่า MOPH ประกอบด้วย M : Mastery การฝึกฝนตนเองให้มีศักยภาพสูงสุด O: Originality การสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆต่อระบบสุขภาพ P: People -Center การยึดประชาชนเป็นที่ตั้งและเป็นศูนย์กลางในการทำงาน H: Humility มีความอ่อนน้อมถ่อมตน เห็นแก่ประโยชน์ส่วนร่วม ซึ่งทั้งหมด Transformative Learning เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้บุคคลกรการแพทย์สามารถบรรลุค่านิยมดังกล่าวได้ เพราะนักศึกษาได้ใช้ชุมชนเป็นฐานในการเรียนรู้ 




แพทย์ต้องเชื่อมโยงชุมชน เพราะปัญหาสุขภาพในชุมชน 90%สามารถหายเองได้

 นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ รองประธานกรรมการ ศสช. ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนเรื่องนี้กล่าวว่า เหตุผลที่สังคมต้องเร่งขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาและหลักสูตรการเรียนการสอนบุคลากรสุขภาพ จากการเรียนในห้องเรียน หรือเรียนจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ของโรงพยาบาล มาเป็นการเรียนรู้จากชุมชน เพราะโดยทั่วไปแล้ว ความเจ็บป่วยของประชาชนประมาณร้อยละ 90 เป็นปัญหาสุขภาพในชุมชนที่สามารถหายเองได้ ไม่ใช่โรคซับซ้อน ที่ต้องอาศัยแพทย์เฉพาะทางในการรักษา แต่การเรียนการสอนของโรงเรียนแพทย์ในปัจจุบันไม่ได้เชื่อมโยงไปถึงชุมชน เป็นการเรียนรู้แบบส่วนๆ ไม่ใช่เรียนรู้แบบองค์รวมสิ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพ

 “ในความเป็นจริงชุมชนต่างๆ ต้องการแพทย์รักษาโรคทั่วไปมากกว่าแพทย์เฉพาะทาง แต่ประเทศไทยยังผลิตแพทย์โรคทั่วไปได้เพียงแค่ร้อยละ 10 เท่านั้น ที่เหลือส่วนใหญ่เป็นแพทย์เฉพาะทาง ต่างจากกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่นหรือในยุโรป ที่แพทย์รักษาโรคทั่วไปจะมีบทบาท และเป็นที่ยอมรับในสังคมมากกว่า เพราะจะมีความใกล้ชิดสังคมเข้าใจวัฒนธรรมแต่ละท้องที่ ยังทำหน้าที่ เป็นที่ปรึกษาสุขภาพของคนในชุมชน และหากเกิดปัญหาที่เป็นโรคซับซ้อนขึ้นจึงส่งต่อให้แพทย์เฉพาะทางทำการรักษา ซึ่งแตกต่างจากบ้านเราทุกวันนี้ ที่คนไข้บางคน ต้องมีแพทย์เฉพาะทาง 4-5 คน ในการดูแลสุขภาพ หรือถ้าไปโรงพยาบาลครั้งหนึ่งก็ต้องใช้เวลาทั้งวัน ในการพบแพทย์แต่ละโรค" รองประธานกรรมการ ศสช. กล่าว

นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ รองประธานกรรมการ ศสช. 
นพ.สุวิทย์ กล่าวต่อว่า ศสช.ต้องให้สังคมและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเห็นความสำคัญของการเรียนด้านสุขภาพที่เข้าถึงชุมชน ด้วยการจัดระบบองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องที่มีอยู่และหาข้อสรุปในการดำเนินการ เพื่อไว้เป็นฐานข้อมูลเผยแพร่แก่เครือข่ายและผู้ที่สนใจ รวมขับเคลื่อนเชิงนโยบายเพื่อทำเป็นแผนสาธารณสุขของชาติต่อไป เพื่อเชื่อมโยงคนที่เกี่ยวข้องกับระบบสาธารณสุขต่างๆ ให้อยู่ในทิศทางเดียวกัน มีขีดความสามารถสร้างเครือข่ายที่จะมาช่วยผลักดันในเรื่องนี้อย่างเข้มแข็ง

ขอผลิตแพทย์ชั้นดีที่รักประชาชน เศร้าใจเคสคนไข้เดินทางหลายร้อยโล ได้เจอหมอ 5 นาที 

รศ.วันชัย ศิริชนะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ( มฟล.) กล่าวว่า ปัญหาการผลิตแพทย์ทุกวันนี้ คือ นักศึกษาจำนวนมากที่อยากมาเรียนแพทย์นั้นต้องการสร้างความมั่นคงให้ชีวิตมากกว่ามาเพื่อมารักษาประชาชน เพราะฉะนั้น จึงเป็นหน้าที่ของมหาวิทยาลัยที่เราจะต้องบ่มเพาะนักศึกษาให้มีหัวใจในการบริการประชาชน เป็นแพทย์ที่มีคุณภาพและมีจิตใจของการเป็นแพทย์ที่ดี เราอยากให้มหาวิทลัยแม่ฟ้าหลวงเป็นมหาวิทยาลัยที่ดีในการสร้างแพทย์ที่มีคุณภาพ ดูแลประชาชนในท้องถิ่น รักประชาชนที่รอคอยเขาอยู่

“ อยากให้นักศึกษาแพทย์ที่นั่งอยู่ตรงนี้ ได้รับรู้ความรู้สึกของคนไข้ที่มารอแพทย์ตั้งแต่ตี1ตีสอง ได้คิวตอนเที่ยง โดยเฉพาะที่รพ.จุฬา และ รพ. ศิริราช ที่ประชาชนเชื่อมั่นว่าแพทย์ที่รพ.เหล่านี้จะดีกว่า แต่ปรากฎว่า หมอตรวจ 5 นาทีแล้วจ่ายยาให้ ทำให้คนไข้มีความน้อยใจรู้สึกว่ามาไกลเป็นร้อยๆกิโล มาหาหมอด้วยความหวัง มาด้วยความศรัทธา แต่หมอตรวจแค่นี้ นี่คือปัญหาที่เราอยากแก้ไขเราจะทำกันใหม่ โดยจากนี้ไปการปฏิรูปบุคลากรแพทย์ ประชาชนไม่จำเป็นต้องมาถึงที่นี่ แค่ไปที่ รพ.ประจำตำบล/อำเภอ ก็จะได้รับการรักษาที่ดีและมีความรู้สึกเหมือนไปหาหมอในกรุงเทพฯ เราอยากสร้างแพทย์ชั้นดีที่สามารถอยู่กับชุมชนได้”

รศ.วันชัย ศิริชนะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ( มฟล.) 
อธิการบดีมฟล. กล่าวต่อว่า เพราะฉะนั้น เราต้องฝังชิพท์ไปในหัวของนักศึกษาแพทย์เหล่านี้ให้ได้ และไม่ให้เขารู้สึกว่าการเป็นแพทย์ในท้องถิ่นเป็นแพทย์ชั้นสอง เราต้องทำให้เขาภูมิใจว่าเขาเป็นคนเก่งและดีจึงอยู่ในพื้นที่และได้รับการยอมรับ  ชีวิตเขามีความหมายสำหรับคนยากจน ความรู้ความสามารถของเขาสามารถช่วยคนชีวิตคนได้ เพราะฉะนั้น เราต้องสร้างระบบการศึกษาแพทย์ที่ทำให้แพทย์ที่ตั้งใจอยู่ในชุมชน ต้องมีศักดิ์ศรีและต้องมีการส่งเสริม มีการให้รางวัล มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงจะทำทุกอย่าง จะร่วมมือกับทุกฝ่ายเพื่อสร้างแพทย์ที่ดีให้ได้ เพื่อให้สมกับพระราชปณิธานสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

เตรียมเปิดศูนย์การแพทย์ให้นักศึกษาเรียนรู้จากคนไข้จริง 

ศ.เกียรติคุณ พลโท นพ.นพดล วรอุไร คณบดีสำนักวิชาแพทยศาสตร์ มฟล. กล่าวว่า แนวทางการเรียนการสอนของทางสำนักแพทยศาสตร์ มฟล. ที่เน้นความเป็นเวชศาสตร์ชุมชน พัฒนาสุขภาพชุมชน บัณฑิตแพทย์ที่จบมาแล้วมีใจรักชุมชน ซึ่งเป็นการช่วยบรรเทาปัญหาขาดแคลนแพทย์ในชนบทของประเทศทางหนึ่ง ทั้งนี้จังหวัดเชียงรายมีลักษณะพิเศษ คือมีกลุ่มชาติพันธุ์ มีคนต่างชาติ ข้ามพรมแดนเข้ามาและนำโรคและเป็นปัญหาเข้ามา ซึ่งระบาดข้ามมาจากฝั่งพม่า ฝั่งลาว คนกลุ่มนี้จะมารักษาตัวที่ อ.เชียงแสน และ อ.แม่สาย ในฝั่งไทย โรคเหล่านี้บางโรคไม่เคยมีในประเทศไทย กลุ่มนักศึกษาแพทย์ของเราจะได้เรียนรู้ในเรื่องเหล่านี้เพิ่มขึ้น

 "ส่วนชุมชนหรือชาติพันธุ์ต่างๆ ทางสำนักแพทยศาสตร์จะมีบัณฑิตแพทย์จบเป็นรุ่นแรกในอีก 2 ปีข้างหน้า ซึ่งทางสำนักแพทยศาสตร์จะชักชวนให้มาทำงานต่อ ทำให้เขามีโอกาสย้อนไปเยี่ยมชุมชนที่เขาเคยไปสมัยยังเป็นนักศึกษา และติดตามความก้าวหน้าในการดูแลผู้ป่วยในชุมชนหรือชาติพันธุ์ต่างๆ ได้ต่อเนื่อง โดยทางมหาวิทยาลัยจะมีการเปิด ศูนย์การแพทย์ของมหาวิทยาลัยที่สามารถรับผู้ป่วยได้ 400 เตียง ซึ่งจะเปิดให้บริการในช่วง ปลายปี 2560 นี้ด้วย เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนจากผู้ป่วยจริงและจะมีการขยายเครือข่ายไปยังรพ.ต่างๆในเขตภาคเหนือตอนบนมาทำงานร่วมกันด้วย” คณบดีสำนักวิชาแพทยศาสตร์ มฟล. กล่าว




วางรากฐานป้องกันการเจ็บป่วยแบบ Gate Keeper พลิกโฉมระบบบริการสุขภาพ

ด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ รองปลัด สธ. กล่าวว่า การพัฒนาการเรียนการสอนบุคลากรสุขภาพตามแนวคิดทรานส์ฟอร์มเมทีฟ เลิร์นนิง จะเป็นตัวเชื่อมในการสร้างระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิที่เข้มแข็ง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ คลินิกหมอครอบครัว (Primary Care Cluster) ที่จะกลายเป็นกลไลช่วยดูแลประชาชนในพื้นที่ได้ครบทุกองค์ประกอบด้านสุขภาพได้ในอนาคต ซึ่ง สธ.วางเป้า สร้างคลินิกหมอครอบครัวให้ครบ 6,500 ทีม ในอีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งคาดว่าจะพลิกโฉมระบบบริการสุขภาพของประเทศไทยเป็นอย่างมาก เพราะเปรียบได้กับการวางรากฐานการป้องกันการเจ็บป่วยในลักษณะ Gate Keeper ที่ประชาชนจะลุกขึ้นมาดูแลสุขภาพของตัวเองกันมาก ผ่านคำแนะนำและการตรวจเบื้องต้น จากบุคลากรด้านสุขภาพของทีมคลินิกหมอครอบครัว

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ รองปลัด สธ.
 “ในฐานะผู้ใช้ผลผลิตบุคลากรด้านสุขภาพเราได้วางคุณลักษณะที่พึงประสงค์ในอีก 20 ปีข้างหน้าไว้แล้ว จึงเป็นหน้าที่ของผู้ผลิตอย่าง มหาวิทยาลัย หรือหน่วยงานใน สธ.เอง ที่ต้องตามเทรนด์ให้ทันว่าในอีก 20 ปีข้างหน้านั้น ประเทศไทยต้องการแพทย์ พยาบาล และกลุ่มสหวิชาชีพแบบใด การปฏิรูปเพื่อการดำเนินงานสอดคล้องไปด้วยกัน” รองปลัด สธ. กล่าว



หนุนนักศึกษาแพทย์ลงพื้นที่ เป็นประโยชน์ต่อคนชายขอบ เชื่อสร้างหมอที่ดีเข้าใจคนรักษาด้วยใจมากขึ้น 

ขณะที่ ทพ.ดร.วีระ อิสระธานันท์ หัวหน้ากลุ่มงานทันตกรรม รพ.แม่จัน กล่าวว่า ข้อดีของการปฏิรูปการเรียนรู้ในแบบทรานส์ฟอร์มเมทีฟ เลิร์นนิง ที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะกับกลุ่มชาติพันธุ์ที่เข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้น้อยกว่าประชาชนทั่วไป การลงพื้นที่ของแพทย์ นักศึกษาแพทย์ และกลุ่มสหวิชาชีพ ตามโรงเรียนต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล อยู่บนภูเขา และช่วยรักษาโดยไม่เลือกว่าใครมีบัตรประชาชนหรือมีสัญชาติ ฉะนั้น ถือว่าเป็นการเรียนรู้การรักษาแบบมืออาชีพ เพราะการเรียนรู้จากชุมชนในพื้นที่จริงจะได้อีกมุมมองหนึ่งเป็นกระจกอีกด้าน เพราะเรื่องของการรักษาต้องเข้าใจในตัวคน เข้าใจในเบื้องหลังคนที่มารักษา การลงพื้นที่จะทำให้รู้สาเหตุของปัญหาเหล่านั้น

ทพ.ดร.วีระ อิสระธานันท์ หัวหน้ากลุ่มงานทันตกรรม รพ.แม่จัน

"ถ้าเราให้นักเรียนแพทย์ นักเรียนทันตแพทย์ นักเรียนพยาบาล และนิสิต นักศึกษากลุ่มสหวิชาชีพ ลงพื้นที่ ให้เขาทำโครงงานในพื้นที่เป็นฐานการเรียนรู้ เมื่อจบแล้วเขาจะเป็นหมอมีจิตวิญญาณที่ดี ที่เข้าใจคนไข้มากขึ้น เราต้องเรียนด้านนี้กันมากขึ้น เพราะนักศึกษาแพทย์หรือนักศึกษาทันตแพทย์บางคนอาจจะ มาจากครอบครัวที่มีฐานะ ไม่ลำบาก อาจจะไม่เข้าใจชีวิตผู้คนจริงๆ ที่อยู่ในชนบทว่าเป็นอย่างไร แต่ถ้า เขาได้มาสัมผัสกับชาวบ้าน ก็จะทำให้เขาเกิดความสงสาร เห็นใจ และกลายเป็นหมอจริงๆ ได้" ทพ.ดร.วีระ ระบุ



องค์การอนามัยโลก ชี้ระบบสุขภาพไทยก้าวหน้ากว่าหลายประเทศ 

นพ.แดเนียล เอ. เคอร์เทสช์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำเทศไทย กล่าวว่า องค์กรอนามัยโลกขอชื่นชมประเทศไทยในการเป็นผู้นำในเรื่องสุขภาพโลก โดยเฉพาะการที่กระทรวงสาธารณสุขของประเทศไทยมีแนวทางการนำการเรียนการสอนบุคลากรด้านสุขภาพในรูปแบบใหม่ ที่เน้นใช้ชุมชนเป็นฐาน เพื่อผลิตบุคลากรด้านสุขภาพ โดยต้องมีการปรับหลักสูตรให้ตอบรับความต้องการของสังคม และให้นักศึกษามีส่วนร่วมในการเรียนรู้ เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจชุมชนและสามารถนำมาปรับใช้ในการทำงานได้

นพ.แดเนียล เอ. เคอร์เทสช์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำเทศไทย
“การปฏิรูประบบสาธารณสุขไม่ใช่แค่การเน้นการเพิ่มจำนวนบุคคลากรเท่านั้น แต่ต้องสร้างบุคคลากรที่เข้าใจเรื่องชุมชนด้วย ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก ซึ่งประเทศไทยถือเป็นตัวอย่างที่ดีในการทำงานเรื่องนี้และมีความก้าวหน้ากว่าหลายๆประเทศ เพราะมีการวางระบบต่างๆเพื่อเดินหน้าเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง โดยองค์การอนามัยโลกจะให้การสนับสนุนทุกอย่างและจะเป็นตัวกลางในการนำประสบการณ์ของประเทศไทยไปแลกเปลี่ยนให้ประเทศอื่นๆ รับทราบ รวมถึงการนำประสบการณ์จากต่างประเทศเพื่อให้ประเทศไทยปรับใช้เพื่อทำให้การพัฒนาบุคคลากรสุขภาพของประเทศไทยทำได้อย่างรวดเร็วมากขึ้นด้วย”


ทั้งหมดนี้คือหลักการแนวคิดการนำ Transformative Learning มาใช้ในการเรียนการสอนบุคลากรสุขภาพ ซึ่งเป็นการเรียนจากสถานที่และการลงมือปฏิบัติจริงในพื้นที่ ซึ่งจะเห็นได้ว่าจากนี้ไปการเรียนแบบ Passive Learning จากความรู้สำเร็จรูป สอนให้จดจำและทำตาม จะไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับผู้เรียนได้  ดังนั้น การเรียนในปัจจุบันอาจารย์จะต้องคำนึงถึงการพัฒนาทัศคติ(Attitude) ทักษะ (Skill) และ ความรู้ (Knowledge) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง (Transform) ทั้งความคิด ทัศนคติ นำไปสู่การพัฒนาทักษะที่เหมาะสมในการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change Agent) และก่อให้เกิดทีมทำงานอย่างมีประสิทธิภาพได้ต่อไป