"Doi Tung Plus, the Social Enterprise Store" แพลตฟอร์มขายสินค้าใหม่ เพื่อ SE สัญชาติไทย ขับเคลื่อนสังคมสู่ความยั่งยืน

ProgressTH.org - 15 ก.ค. 2561 - ดอยตุง” จับมือ 10 ธุรกิจเพื่อสังคม เปิดตัว “Doi Tung Plus, the SocialEnterprise Store” ผลักดันศักยภาพ SE สัญชาติไทย ช่วยสร้างเศรษฐกิจ-สังคมให้แข็งแรง 

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ จับมือ 10 ธุรกิจเพื่อสังคมเปิดตัวโครงการ “Doi Tung Plus, the Social Enterprise Store” หวังยกระดับคุณภาพธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise : SE) ในประเทศไทยให้กลายเป็นอีกฟันเฟืองสำคัญขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ ที่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกันอย่างยั่งยืน


โดยมี ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เป็นประธานเปิดงาน ร่วมด้วย ท็อป-พิพัฒน์ อภิรักษ์ธนากร ผู้ออกแบบ Mobile Store ของ Doi Tung Plus, the Social Enterprise Store และกลุ่มธุรกิจเพื่อสังคมที่เข้าเกณฑ์ประเมินของ Doi Tung Plus, the Social Enterprise Store อย่าง อภัยบูเบศร สยามออร์แกนิค (Jassberry) และศูนย์ธุรกิจเพื่อสังคมวานีตา ณ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ สำนักงานใหญ่ ถ.พระราม 4 เมื่อเร็วๆ นี้




ต่อยอดความสำเร็จแบรนด์ "Doi Tung" สร้าง Impact สู่สังคมวงกว้าง

 ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ กล่าวว่า หลังจากทางมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้ดำเนินโครงการพัฒนาดอยตุงฯ ซึ่งเป็นการสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่ต้องการปลูกป่า สร้างคน เน้นวิถีพอเพียงอย่างยั่งยืน และใช้ธุรกิจเพื่อสังคม ภายใต้แบรนด์ “ดอยตุง” (DoiTung) เป็นตัวอย่างในการส่งเสริมการใช้กลไกภาคธุรกิจ ช่วยแก้ไขปัญหาทางสังคมและสิ่งแวดล้อมต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ จนประสบผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์ จึงเกิดคำถามตามมาถึงศักยภาพในการต่อยอด ขยายผล หรือริเริ่มทำโครงการพัฒนาอย่างยั่งยืนในลักษณะนี้ของมูลนิธิฯ จนเป็นที่มาของโครงการ Doi Tung Plus, the Social Enterprise Store ที่ตั้งใจริเริ่มขึ้น เพื่อนำองค์ความรู้ของดอยตุงขยายสู่สังคมวงกว้าง สร้างผลกระทบต่อผู้คนได้มากขึ้น ควบคู่ไปกับการทำงานเชิงลึกในการพัฒนาพื้นที่ 

ม.ล.ดิศปนัดดา กล่าวต่ออีกว่า หลักการของ Doi Tung Plus, the Social Enterprise Store คือการชวนธุรกิจเพื่อสังคมที่มีผลิตภัณฑ์คุณภาพ โดยชุมชนในพื้นที่ สังคม และสิ่งแวดล้อม ต้องได้รับประโยชน์และผลกระทบเชิงบวกการอย่างดำเนินธุรกิจอย่างแท้จริง มานำเสนอเพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่ายยิ่งขึ้น ทั้งนี้ธุรกิจเพื่อสังคมที่เข้าร่วมต้องผ่านเกณฑ์การประเมินของมูลนิธิฯ เกณฑ์ดังกล่าวพัฒนาและจัดทำโดยคณะอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจเพื่อสังคมจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประกอบด้วย 5 ด้าน ได้แก่  1.ผลกระทบเชิงบวก 2.ประสิทธิ ภาพในการดำเนินธุรกิจ 3.มาตรฐานกิจกรรมภายใน (Internal Activity) 4.การจัดการด้านบุคคลและองค์ความรู้ และ 5.ธรรมาภิบาลของการทำธุรกิจ (Good Governance) ที่จะคัดแยกธุรกิจเพื่อสังคมออกเป็น 3 ระดับ คือ 1.พื้นฐาน 2.ปานกลาง และ 3. ดี

โดยเกณฑ์ดังกล่าวจะกลายเป็นตัวชี้วัด ที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้ธุรกิจเพื่อสังคมของไทยเร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์รวมถึงศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ เพื่อยกระดับธุรกิจเพื่อสังคมของประเทศให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งขณะนี้มีธุรกิจเพื่อสังคมที่เข้าเกณฑ์เบื้องต้นของ Doi Tung Plus, the Social Enterprise Store ประมาณ 10 กิจการ ที่จะร่วมออกบูธจำหน่ายสินค้าไปด้วยกัน โดยการวางสินค้าจะเป็นของธุรกิจเพื่อสังคมอื่นๆ ร้อยละ 70 และของดอยตุงอีกร้อยละ 30 เวียนไปตามแหล่งชุมชนและตึกออฟฟิศ

ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ
 


“เราต้องการพัฒนาดอยตุงให้กลายเป็นแพลตฟอร์มที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม และพบว่าความเป็นดอยตุงและช่องทางการตลาดของดอยตุงซึ่งเป็นธุรกิจเพื่อสังคมอย่างยั่งยืน จะช่วยพัฒนาและยกระดับธุรกิจเพื่อสังคมภายในประเทศ ให้กลายเป็นธุรกิจเพื่อสังคมที่มีคุณภาพไปพร้อมกันได้ นอกจากนี้ โครงการ Doi Tung Plus, the Social Enterprise Store ยังช่วยให้ดอยตุงพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง เพราะได้เห็นจุดอ่อนของตัวเองและได้เรียนรู้จุดแข็งของธุรกิจเพื่อสังคมที่เข้าร่วม นับเป็นการจับมือกันแบบ ที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน และสร้างเป็นมาตรฐานให้เกิดความเท่าเทียม” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ชี้แจงเพิ่มเติม


ไม่ใช่แค่ "ซื้อ" แต่ "ขับเคลื่อนสังคม" ด้วย 

 ด้าน ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร เลขาธิการมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี กล่าวว่า โครงการ Doi Tung Plus, the Social Enterprise Store เปรียบได้กับการยอมรับและหนุนเสริมซึ่งกันของกลุ่ม SE ในประเทศ และยังแสดงให้เห็นถึงการร่วมมือผนึกกำลังเพื่อสื่อสารทำความเข้าใจให้รู้ถึงวัตถุประสงค์ที่ต้องการพัฒนาสังคมไทยให้ดีขึ้นด้วยระบบธุรกิจเพื่อสังคม ขณะเดียวกันเป็นสร้างความตระหนักและพัฒนาตัวผู้บริโภค ที่จะทำให้การเลือกซื้อของในครั้งถัดไปของพวกเขาไม่ใช่แค่การจ่ายเงินซื้อวัตถุ แต่การซื้อนั้นสามารถช่วยขับเคลื่อนสังคมได้ 

“สิ่งที่ดอยตุงกำลังทำ สอดคล้องกับแนวคิดและเจตนาของอภัยภูเบศรที่ต้องการใช้ภูมิปัญญา ใช้วัตถุดิบชีวภาพที่มีอยู่ในประเทศให้เกิดประโยชน์ต่อคนไทย เพื่อลดการใช้ยาแผนปัจจุบันจากต่างประเทศ และหวังสร้างความเป็นธรรมให้กับทุกส่วนที่เกี่ยวข้องในกระบวนการดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นธรรมชาติ เกษตรกรผู้ผลิต ซัพพลายเออร์ ระบบธุรกิจ และผู้บริโภค แต่เรื่องนี้จะขับเคลื่อนได้ไกลและประสบผลสำเร็จอย่างยั่งยืน สร้างสังคมที่มั่นคงแข็งแรงได้ ต้องนำเอานวัตกรรม ระบบธุรกิจ และการบริการจัดการ ที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมเข้ามาจับ ซึ่งโครงการ Doi Tung Plus, the Social Enterprise Store ตอบโจทย์ในการพัฒนาธุรกิจเพื่อสังคมเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศ” ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ระบุ


"สินค้าวานีตา" การเยียวยาความเจ็บปวดทางใจ จากเหตุร้ายสามจังหวัดชายแดนใต้ 

 ขณะที่ น.ส.อามีเนาะห์ หะยีมะแซ ผู้จัดการศูนย์ธุรกิจเพื่อสังคมวานีตา กล่าวว่า การได้เข้าร่วมโครงการ Doi Tung Plus, the Social Enterprise Store นับเป็นโอกาสที่ดีที่วานีตาจะได้พัฒนาองค์ความรู้การเป็นธุรกิจเพื่อสังคมในมิติต่างๆ ให้มีศักยภาพมากขึ้น โดยเฉพาะในด้านการพัฒนาไอเดียที่จะช่วยต่อยอดการผลิตสินค้าอุปโภคและบริโภคของสมาชิก ซึ่งเป็นกลุ่มแม่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์รุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จ.ปัตตานี จ.ยะลา และ จ.นราธิวาส รวมถึง 4 อำเภอ ใน จ.สงขลา รวม 58 กลุ่ม มีสมาชิกกว่า 1,100 คน ได้ตรงใจผู้ซื้อมากขึ้น ขณะที่การได้ร่วมออกบูธจำหน่ายสินค้ากับดอยตุงและธุรกิจเพื่อสังคมอื่นๆ ยังเปรียบเสมือนการเปิดประตูให้สังคมรู้จักกลุ่มวานีตามากขึ้น ว่าเรากำลังทำอะไร และสิ่งที่ทำอยู่นั้นสามารถช่วยแก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้อย่างไร

 “ธุรกิจเพื่อสังคมที่ทางกลุ่มทำอยู่และกำลังจะจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนในเร็วๆ นี้ ช่วยแก้ปัญหาในพื้นที่ได้จริง ทั้งในแง่การบรรเทาความเจ็บปวดทางจิตใจของผู้สูญเสีย รวมถึงการสร้างรายได้ให้แต่ละครัวเรือน โดยเฉพาะชาวบ้านในพื้นที่ชานเมืองหรือในพื้นที่ห่างไกลที่มีรายได้จากการกรีดยางเพียงอย่างเดียว จนไม่สามารถซื้อข้าวสารเพื่อประทังชีวิตได้ แต่เมื่อเข้าร่วมกลุ่มวานีตาก็สามารถนำองค์ความรู้ของกลุ่มไปพัฒนาอาชีพของตัวเองจนมีชีวิตที่ดีขึ้น” ผู้จัดการศูนย์ธุรกิจเพื่อสังคมวานีตา กล่าว




*******************************************
ติดตาม ProgressTH.org ใน Facebook ที่นี่ และ Twitter ที่นี่ 

 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ โทร. 02 252 7114 ต่อ 323 Email : Thantarath@doitung.org, Ongfong@doitung.org