หุ่นยนต์เห่ย เปิดประตูสร้าง Maker movement

20 เม.ย. 2558 - Progress Thailand - เริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากๆขึ้นเรื่อยๆ กับภารกิจการสร้าง Maker Movement ที่ทีม ProgressTH พยายามผลักดันเรื่องนี้ร่วมกับ Makerspace ต่างๆ เพื่อเปิดประเด็น Makerspace คือ พื้นที่สร้างสรรค์ของคนที่อยากลงมือทำจริง ให้เป็นที่รู้จักในสังคมไทย



ล่าสุด ทีม ProgressTH ต้องขอขอบคุณ Maker Zoo ที่ให้โอกาสเราได้ทำงานเรื่องนี้ด้วยกันอย่างใกล้ชิด ทำให้เราได้เรียนรู้จากการลงมือทำเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะล่าสุด กับภารกิจจัดการแข่งขัน “หุ่นยนต์เห่ยสร้างสรรค์ประจัญบาน” HEBOCON Thailand ครั้งที่ 1


ยอมรับว่าเมื่อเราได้ยินชื่อ การแข่งการแข่งขัน ทำให้เราถึงกับอึ้ง ว่า “หุ่นยนต์เห่ย” ทำไมชื่อแบบนี้ และวัตถุประสงค์คืออะไร จนกระทั่งได้รับการเฉลยจากทีม Maker Zoo ว่า เป้าหมายของการแข่งขันหุ่นยนต์เห่ยที่ว่านี้ จะมีความหมายอย่างมาก ต่อผู้ที่เริ่มต้นประดิษฐ์สิ่งต่างๆ ซึ่งบางครั้งต้องเจอกับความล้มเหลว ซึ่งหากเราพิจารณาและยอมรับเราจะเห็นว่า ความล้มเหลว ความเห่ย ที่เกิดขึ้น คือสิ่งสวยงาม ที่เปิดทางให้เราไปสู่ความสำเร็จ


ดังนั้น การแข่งขัน Hebocon คือการเปิดใจคนให้เลิกกลัวในการลองทำสิ่งต่างๆ เพราะกลัวว่าหากตัวเองไม่รู้แล้วคนอื่นจะดูถูก เพราะ Hebocon ต้องการให้คนเปิดใจกล้าแสดงออกมากขึ้น และสนุกไปกับสิ่งที่ทำ

เหตุที่เป็นเช่นนี้ Makerspace นั้นยังมีกำแพงที่ขวางกั้นการเข้าร่วมของคนทั่วไป ที่การสร้างสิ่งต่างๆจำเป็นต้องมีความรู้ ดังนั้นต้องมีงาน/กิจกรรม ต่างๆ ที่เน้นเรื่องความสร้างสรรค์ เพื่อเปิดทางให้คนเหล่านี้เข้ามาร่วม โดยไม่ต้องใช้ความรู้มากนัก แต่ต้องมีใจเป็นหลัก โดยทุกคนสามารถเข้ามาประดิษฐ์และลองทำดูซึ่งเป็นการเรียนรู้จากการลงมือทำ ( Learning by Doing) ซึ่งส่วนหนึ่งของ Maker movement

และแล้วการแข่งขัน Hebocon Thailand ครั้งที่ 1 ก็เกิดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ 19 เม. ย. ที่ผ่านมา โดยได้รับการตอบอย่างดีเกินความคาดหมาย เพราะมีผู้ลงสมัครเข้าแข่งขัน 16 ทีม เต็มอย่างรวดเร็ว และมีผู้เข้าชมอีกจำนวนมาก รวมถึงได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนมาร่วมทำข่าวด้วย


โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างสนุกสนาน โดยมี Maker ตั้งแต่รุ่นจิ๋ว ถึงรุ่นใหญ่ร่วมการแข่งขัน จนเรารู้สึกได้ว่า ประตูแห่ง Maker culture ได้ถูกเปิดขึ้นแล้ว และเห็นได้ว่าทุกคนพร้อมจะแชร์ไอเดียและยอมรับเรียนรู้ “ความเห่ย” ของกันและกัน

นอกจากการแข่งขันหุ่นยนต์เห่ยจะเป็นไปด้วยความสนุกสนานและสร้างสรรค์แล้ว การแข่งขันดังกล่าวได้เปิดโอกาสให้ผู้ร่วมแข่งขัน ได้เรียนรู้ด้วยการลองผิดลองถูก (Trial and Error) ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะถ้าเราไม่รู้จักลองผิดลองถูกก็จะไม่สามารถทำให้เราพัฒนาสิ่งต่างๆได้

ดังนั้น Hebocon จึงโฟกัสเรื่องนี้ เพื่อให้คนกล้าที่ยอมรับและเรียนรู้จากความล้มเหลว เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นในโอกาสต่อไป เพราะฉะนั้น การแข่งขัน Hebocon แม้จะบอกว่าเป็นหุ่นยนต์เห่ย แต่ก็เป็นความเห่ย ที่มีความหมายสำหรับชาว Makers ที่อยากแสดงผลงานของตัวเอง

นี่คือ จุดเริ่มต้นที่สวยงามของการสร้าง Maker culture ซึ่งเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้และลงมือทำและแบ่งปัน ซึ่งหากเรามีสามารถสร้างวัฒนธรรมดังกล่าวสู่สังคมไทย ก็จะทำให้ประเทศไทยมีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็วแน่นอน

ติดตาม ProgressTH.org ใน Facebook ที่นี่ และ Twitter ที่นี่