วิกฤตน้ำมันรั่วยังสาหัส ชาวประมงพื้นบ้านรวมพลัง เดินหน้าฟื้นฟูทะเล "สร้างบ้านปลา" ครั้งใหญ่ 23 ต.ค. นี้

22 ต.ค. 2558-ProgressTH(www.progressTH.org) แม้ว่าวิกฤตน้ำมันรั่วที่เสม็ดระยองจะผ่านมาแล้วกว่า 2 ปี แต่ยังส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกับชาวประมงพื้นบ้านระยองที่ยังคงระทมหนักไม่สามารถทำการประมงในพื้นที่ชายฝั่งได้เหมือนเดิมอีกต่อไป ส่งผลให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนจำนวนมาก จนถึงขั้นต้องขายเรือทิ้ง!!!!

อย่างไรก็ตามหลังจากที่มีการเรียกร้องให้หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องเข้ามาตรวจสอบหาผู้กระทำผิด แต่ก็ไม่มีความคืบหน้า ในที่สุดชาวบ้านได้ตัดสินใจขอฟื้นฟูทะเลด้วยตัวเองเท่าที่จะทำได้ โดยการเรียกร้องให้ นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ว่าราชการจังหวัดระยองสั่งปิดอ่าวระยองเป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือน ก.ย.- พ.ย. 2558 เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำ








เดินหน้าฟื้นฟูทะเล 

 นอกจากนี้ชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่ยังได้รวมตัวกันทำกิจกรรม “สร้างบ้านให้ปลา” เพื่อหวังให้สัตว์น้ำ เพื่อใช้เป็นแหล่งอาศัยและแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำขนาดเล็กและสร้างแนวเขตสำหรับการฟื้นฟูทรัพยากรที่ลดน้อยลง โดยบ้านปลาดังกล่าวเป็นซั้งกอที่ทำจากวัสดุธรรมชาติและวัสดุสังเคราะห์ที่มีผลกระทบต่อธรรมชาติน้อยที่สุด  โดยทำเป็นบ้านปลาให้สัตว์น้ำด้วยภูมิปัญญาชาวบ้านเพื่อสร้างแนวเขตสำหรับการฟื้นฟูทรัพยากรที่ลดน้อยลงเพื่อหวังว่าจะมีปลากลับสู่อ่าวระยองเหมือนเดิม

ทั้งนี้จะชาวบ้านได้รวมตัวกันสร้างซั้งปลาตั้งแต่ต้นเดือนที่ผ่านมา และมีกำหนดที่จะทิ้งบ้านปลาลงกลางทะเล ในวันศุกร์ที่ 23 ตุลาคม 2558 ตั้งแต่เวลา 08.00 น.เป็นต้นไป  โดยจุดรวมพลใหญ่จะอยู่ที่ ศูนย์สมาคมประมงพื้นบ้านหาดแม่รำพึง ต.ตะพง อ.เมือง จ.ระยอง 

ทีมProgressTH ได้สอบถามชาวบ้านและพบว่าชาวบ้านต้องทนทุกข์กับวิกฤตน้ำมันรั่วอย่างแสนสาหัส เพราะอาชีพของประชาชนที่นี่คือการประมง โดยก่อนหน้าที่จะเกิดน้ำมันรั่วชาวบ้านเคยได้ปลาวันละอย่างน้อย 30 กิโลกรัม แต่หลังจากที่มีน้ำมันรั่วบางวันออกเรือไปได้ปลาเพียงไม่กี่ตัวเท่านั้น ซึ่งไม่คุ้มค่าน้ำมัน ทำให้บางคนต้องจอดเรือทิ้ง

ขณะที่บางคนต้องขายเรือใช้หนี้ ที่แย่ไปกว่านั้นวิกฤตน้ำมันรั่วที่เกิดขึ้น มีผลทำให้บางครอบครัวต้องบ้านแตกสาแหรกขาด เพราะบางคนต้องออกจากพื้นที่ไปอยู่บ้านญาติที่ต่างจังหวัด เพราะไม่สามารถทำมาหากินได้อีกต่อไป เป็นผลกระทบที่คนภายนอกไม่เคยรับรู้ ว่าความเดือดร้อนยังคงอยู่

การ “สร้างบ้านเพื่อปลา” ครั้งนี้เกิดจากความร่วมมือกันในพื้นที่ โดยมีการบริจาคเงินคนละเล็กละน้อย เพื่อซื้อปูนสร้างทุ่น ซื้อทราย ตัดไม้ไผ่ ทางมะพร้าว เชือก เพราะ ณ จุดนี้ชาวบ้านคิดว่าไม่สามารถรอความช่วยเหลือจากใครได้ และในขณะเดียวกันก็ไม่สามารถอยู่นิ่งเฉยได้อีกต่อไปแล้ว 







นายบุญปลอด สรเกิด ชาวประมงพื้นบ้าน  กล่าวว่า เล่าความเป็นมาของกิจกรรมครั้งนี้ว่า เกิดจากการที่ชาวประมงพื้นบ้านไปเรียกร้องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดระยองตอนปลายเดือนก.ย. เพื่อให้มีคำสั่งปิดอ่าวเพื่อฟื้นฟูทรัพยากร

ซึ่งทางชาวบ้านได้ทำแผนการฟื้นฟูทะเลด้วยการสร้างบ้านปลาเสนอด้วย ซึ่งพอผู้ว่าฯได้เห็นความตั้งใจของพวกเราก็เห็นด้วยโดยประกาศปิดอ่าวห่างฝั่ง 12 ไมล์ทะเลจากฝั่ง ห้ามไม่ให้เรือทำลายล้าง เช่นเรืออวนลาก อวนรุน เข้ามาเพราะอวนทำลายล้างดังกล่าว ได้ลากคราบน้ำมันทำให้สารเคมีที่ฉีดพ่นสลายคราบน้ำมันที่จมอยู่ใต้ทะเลบริเวณพื้นผิวดินฟุ้งกระจาย ส่งผลให้ทรัพยากรสัตว์น้ำฟื้นตัวช้า

 " กิจกรรมครั้งนี้จะเป็นการสร้างบ้านปลาที่ใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของชาวระยอง เพราะทุกชุมชนจะร่วมกันทำที่หน้าบ้านของตัวเองหน้าอ่าวระยองทั้งหมดเป็นความยาวกว่า 100 กิโลเมตร ซึ่งก่อนหน้านี้ชาวบ้านได้เริ่มทำกันมาบ้างแล้ว แต่งานในวันพรุ่งนี้ (23  ต.ค.) จะเป็นการทำบ้านปลาครั้งใหญ่ที่ทุกคนร่วมมือร่วมใจกัน จากคนในชุมชนทุกอาชีพช่วยกันทำบ้านปลา  ทั้งจากชาวประมงพื้นบ้าน ชาวประมงพาณิชย์  หรือแม้แต่สวนที่ช่วยบริจาคทางมะพร้าวต่างๆ โดยจะทิ้งซั้งกอบ้านปลา 52 กอ หญ้าเทียม 100 ชุด ซั้งเชือกอีก 9 ชุดใหญ่ และหวังว่ากิจกรรมครั้งนี้จะมีส่วนช่วยฟื้นฟูทะเลระยองได้บ้าง” นายบุญปลอด กล่าว


ความเดือดร้อนยังคงอยู่แสนสาหัส 

 นางนวรัตน์ ธูปบูชา ชาวประมงพื้นบ้านระยอง กล่าวว่า หลังจากน้ำมันรั่วต้องออกไปหากินไกลบ้าน เพราะทรัพยากรหน้าบ้านลดลง ไม่ว่าจะเป็น ปลาหมึกหอม หรือแม้แต่กุ้งเคยที่คนระยองใช้ทำกะปิก็หายไปต้องไปซื้อจากจันทบุรี เป็นเวลากว่า 2 ปีแล้วที่ ที่แทบไม่สามารถจับกุ้งได้

“ทุกวันนี้ชาวประมงหลายคนหากินลำบากเหลือเกิน สองปีกว่าไม่มีอะไรดีขึ้นเลย ไม่รู้จะใช้เวลาอีกนานแค่ไหนทุกอย่างจะดีขึ้น สิ่งที่ทำได้คือพวกเราจะพยายามช่วยกันฟื้นฟูทะเลเพื่อให้ทะเลของเรากลับมาอุดมสมบูรณ์เหมือนเดิม” 


นายอาคม เข็มกลาง ชาวประมงพื้นบ้านเรือเล็กระยอง กล่าวว่า หลังจากน้ำมันรั่วชาวประมงในพื้นที่ต้องออกไปหาปลาไกลขึ้น เช่น เกาะมันนอก บางเสร่ เขาสามร้อยยอด เกาะทะลุ แต่ส่วนตัวหลายครั้งที่ไม่สามารถไปได้ เพราะไม่มีเงินเติมน้ำมัน ต้องนอนเฝ้าอ่าวอยู่แถวนี้ เพราะบางครั้งออกไปสองวันได้ปลาเพียงตัวเดียวเท่านั้น ขณะที่เพื่อนบางคนต้องขายเรือทิ้ง เพราะออกไปทำประมงไม่ได้ จนครอบครัวขาดรายได้

“ตั้งแต่น้ำมันดิบรั่วไหลหน่วยงานรัฐไม่เคยลงพื้นที่มาดูแลชาวประมงพื้นบ้านระยองบ้างเลย ไม่รู้หายไปไหนบางครั้งก็สงสัยว่าเขาอาจจะมองว่าชาวประมงไม่ใช่คน เพราะตั้งแต่น้ำมันรั่วไหลลงทะเลระยองปี 2556 ผมหมดทุนไปแสนกว่าแล้วครับไม่มีเงินจะส่งให้ลูกเรียนแล้ว  เพราะไม่ได้เคยได้กำไร มีแต่ขาดทุนมาโดยตลอด ” นายอาคม กล่าว

ด้าน นายสันต์ เข็มจรูญ ชาวประมงพื้นบ้านอีกคน กล่าวด้วยน้ำเสียงสั่นเครือว่า ชีวิตไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว เพราะไม่ปลาที่ระยองเลย ต้องไปหากินไกลขึ้น ไม่เคยคุ้มค่าน้ำมัน แต่ก็ไม่รู้ว่าจะไปทำอาชีพอะไร เพราะตัวเองก็แก่แล้ว ไม่สามารถเปลียนอาชีพได้

นัดสืบพยาน "ผู้ปล่อยมลพิษต้องรับผิดชอบ" กลางปีหน้า 

ทั้งนี้การฟื้นฟูทะเลจำเป็นต้องทำอย่างเร่งด่วน  ขณะที่การหาตัวผู้กระทำผิด "ผู้ปล่อยมลพิษต้องรับผิดชอบ" ยังทำอยู่อย่างต่อเนื่องแม้ว่าจะใช้เวลายาวนาน  โดยความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2558 ศาลจังหวัดระยอง นัดชี้สองสถานเพื่อกำหนดประเด็นพิพาทและภาระนำสืบ ตลอดทั้งกำหนดวันนัดสืบพยาน ในคดีหมายเลขดำที่ 1150/2557 ระหว่าง สมาคมประมงพื้นบ้านเรือเล็กระยอง ที่ 1 กับพวกรวม 429 คน โจทก์ บริษัท พีทีที โกบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) จำเลย บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) จำเลยร่วม ในฐานะผู้รับประกันโครงการท่อน้ำมันที่เกิดเหตุ

ศาลได้กำหนดประเด็นสืบพยานไว้ 7 ประเด็น คือ 1. โจทก์ทั้ง 429 มีอำนาจฟ้อง หรือไม่ 2. เหตุน้ำมันรั่วเกิดจากเหตุสุดวิสัย หรือไม่ 3. การดำเนินการขจัดคราบน้ำมันเป็นการกระทำตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่ หรือไม่ 4. จำเลยต้องรับผิดในการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือไม่ เพียงใด 5. โจทก์ทั้ง 429 ได้รับความเสียหาย หรือไม่ เพียงใด 6. จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้ง 429 หรือไม่ เพียงใด 7. จำเลยร่วมได้รับยกเว้นไม่ต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย หรือไม่

ในประเด็นที่ 1, 5 และ 6 ภาระการพิสูจน์ตกแก่โจทก์ทั้ง 429 ประเด็นที่ 2, 3, และ 4 ภาระพิสูจน์ตกแก่จำเลย ส่วนประเด็นที่ 7 ภาระพิสูจน์ตกแก่จำเลยร่วม ศาลกำหนดนัดสืบพยานโจทก์ 10 นัด สืบพยานจำเลย 10 นัด และสืบพยานจำเลยร่วม 2 นัด โดยกำหนดสืบพยานโจทก์นัดแรกวันที่ 20 เมษายน 2559 นัดสุดท้ายคือวันที่ 27 กรกฎาคม 2559 


ติดตาม ProgressTH.org ใน Facebook ที่นี่ และ Twitter ที่นี่