ปฏิบัติการ Transformative Learning ศสช. ลุยลงพื้นที่หมู่บ้านชาติพันธุ์ รับโจทย์ใหญ่ อยากให้ “ไสยศาสตร์ VS แพทย์สมัยใหม่ พบกันครึ่งทางที่โรงพยาบาล ?

10 เมษายน 2560  - ProgressTH.org - มูลนิธิเพื่อการพัฒนาการศึกษาบุคลากรสุขภาพ (ศสช.)  เดินหน้าผลักดันเต็มที่สำหรับแนวทางการจัดการเรียนการสอนแบบ Transformative Learning หรือที่เรียกว่าการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง  สำหรับบุคลากรระบบสุขภาพโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน ด้วยการให้ผู้เรียนและผู้สอนลงพื้นที่ชุมชนเพื่อเรียนรู้จากสถานการณ์จริงอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเชื่อมโยงทฤษฎีและนำไปสู่การปฏิบัติงานได้จริงและมีความเข้าใจปัญหาระบบสุขภาพของประเทศ 

 โดยขณะนี้ได้เริ่มปักหมุดที่ภาคเหนือ โดยมีสำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) จ.เชียงราย ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีกลุ่มชาติพันธุ์ห่างไกลจำนวนมาก ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ต้องการเข้าถึงการรักษาพยาบาลและต้องการความเข้าใจจากบุคลากรสหวิชาชีพ ในรื่องบริบท วัฒนธรรม ภาษา ประเพณีต่างๆ ที่เหมือนเป็นกำแพงกันกั้นอยู่ ซึ่งการเรียนการสอนแบบ Transformative Learning ถือเป็นเครื่องมือสำคัญ ที่จะทำให้ทั้งหมอและกลุ่มชาติพันธุ์ทลายกำแพงนี้ เมื่อแพทย์และบุคคลากรการแพทย์จะลงไปเรียนในพื้นที่ชุมชน มากกว่าเรียนในห้องเรียนแบบที่ผ่านมา


หลังจากที่มีการประชุมเสวนา เรื่อง “การพัฒนาการศึกษาบุคลากรสุขภาพในศตวรรษที่ 21 "Transformative Learning" เรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน  มิติใหม่ในการสร้างบุคลากรระบบสุขภาพให้ตอบโจทย์สังคม   ซึ่งสนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กันไปแล้ว

ล่าสุด นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ รองประธานกรรมการ ศสช. ศ.พญ. วณิชา ชื่นกองแก้ว ผู้จัดการโครงการพัฒนาการศึกษาบุคลากรสุขภาพในศตวรรษที่ 21  และคณะ  ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ ได้นำทีมบุคลากรแพทย์จากกระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่หมู่บ้านชาติพันธุ์ลาหู่ ที่ บ้านปางสา หมู่ที่ 17 ต.ป่าตึง อ.แม่จัน จ.เชียงราย 

จุดประสงค์การลงพื้นที่ครั้งนี้ เพื่อซักถามปัญหาการเข้าถึงการบริการทางสาธารณสุขของกลุ่มชาติพันธุ์ว่ามีการติดขัดเรื่องใดหรือไม่ และกลุ่มชาติพันธุ์มีสิ่งใดที่อยากจะเปิดใจกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือไม่อย่างไร โดยเฉพาะความไม่เข้าใจกันเรื่อง การรักษาสมัยใหม่ และการรักษาแบบไสยศาสตร์ ทั้งสองฝ่ายเชื่อจะเจอกันที่ตรงกลางได้อย่างไร   การลงพื้นที่ของ สศช.ดังกล่าว ได้สร้างความปลื้มใจให้กับชาวบ้านอย่างมาก เพราะถือว่าเป็นครั้งแรกที่บุคลากรสุขภาพระดับอาวุโสจากกระทรวงสาธารณสุขได้ลงพื้นที่ในหมู่บ้านแบบนี้

กลุ่มคนชาติพันธุ์มาหาหมอพร้อมกับความเชื่อทางไสยศาสตร์ 

 นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ รองประธานกรรมการ ศสช. กล่าวว่า การลงพื้นที่ที่หมู่บ้านปางสา ก็ทำให้เราเห็นวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ ทั้ง มูเซอ ลีซอ อิสลาม และ คนจีน ซึ่งสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข เพราะมีกฎกติกา วัฒนธรรม ความเชื่อ ที่สำคัญการที่ได้พูดคุยกับชาวบ้านครั้งนี้ทำให้เรารู้ว่าเวลาเขาไปใช้บริการสาธารณสุข กลุ่มคนเหล่านี้ไปพร้อมกับความเชื่อของเขาซึ่งก็คือ ความเชื่อทางไสยศาสตร์ ซึ่งรวมถึงความเชื่อต่อการแพทย์แผนปัจจุบันด้วย อย่างไรก็ตามพอถึงจุดหนึ่งเขาก็อยากใช้ความเชื่อทางไสยศาสตร์ ซึ่งต้องมี หมอผี คนทรง เพื่อเรียกขวัญคนไข้ในโรงพยาบาล แต่ก็ไม่แน่ใจว่าบุคลากรระบบสุขภาพที่ทำงานตรงนั้นจะเข้าใจมิติทางจิตวิญญานของเขาหรือไม่

 “ นี่คือสิ่งที่สำคัญ ซึ่งหากนักศึกษาระบบสุขภาพ ได้เข้ามาในชุมชนตั้งแต่เรียนและเข้าใจชีวิตวัฒนธรรมของคนเหล่านี้ เวลาเขาไปโรงพยาบาลและขอหมอผีมาทำพิธีไสยศาสตร์ เราจะไม่รู้สึกผิดปกติ และงงว่าคนเหล่านี้มาจากป่าที่ไหน เพราะนี่คือ ความเชื่อของเขา จะว่าไปแล้วแม้แต่แผนปัจจุบันก็ยังมีการบนบานศาลกล่าว ซึ่งไม่ต่างกับความเชื่อไสยศาสตร์ของกลุ่มขาติพันธุ์แต่อย่างใด เพราะฉะนั้น ถ้าเราเข้าใจกันได้ ระบบสาธารณสุขจะดีขึ้นอย่างมหาศาล


ลึกสุดใจ เหตุผลต้องปฏิรูป เพราะไม่อยากเห็นคนถูกรักษาเป็นส่วนๆเหมือนเครื่องจักร 

นพ.สุวิทย์ กล่าว รองประธาน ศสช. กล่าวว่า เหตุที่ต้องมีการขับเคลื่อนการปฏิรูปบุคลากรสุขภาพ ปัจจุบันการรักษาประชาชนของแพทย์เป็นการรักษาแบบแยกส่วนแบ่งเป็นการรักษาตามอวัยวะต่างๆ ทำให้คนทั้งคนหายไปเลย ผลที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงแบบนี้มีทั้งสิ่งที่ดีคือ การรักษาต่างๆใช้เวลาเร็วขึ้น แต่สิ่งที่ไม่ดีคือ มนุษย์ถูกถูกดูแลเหมือนชิ้นส่วนเครื่องจักร ไม่มีการผสมผสาน ไม่มีหมอคนไหนที่รักษาได้ทุกอย่าง ถ้าเป็นแบบนี้มากขึ้นๆ จะทำให้ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพสูงขึ้น

"ดังนั้น เราไม่สามารถปล่อยให้เป็นแบบนี้ได้ จีงมีความคิดว่า เราต้องหันกลับมารักษาสุขภาพของคนทั้งคน ไม่เฉพาะ หัวใจ สมอง ตา แต่ต้องดูคนทั้งคน ดูไปถึงครอบครัว ชุมชน เพราะทุกสิ่งทุกอย่างเชื่อมโยงกัน นี่คือ แนวทางการปฏิรูปการศึกษาบุคลากรสุขภาพของชาติศตวรรษที่ 21 ด้วยการ เอาคน ครอบครัว ชุมชน เป็นฐานในการศึกษา ไม่ใช่ เอาอวัยวะและเทคโนโลยีเป็นหลักแบบที่ผ่านมา"
 นพ.สุวิทย์  วิบุลผลประเสริฐ รองประธานกรรมการมูลมูลนิธิเพื่อการพัฒนา
การศึกษาบุคลากรสุขภาพ (ศสช.)

อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยี ยา และ การรักษาแบบเฉพาะส่วนยังสำคัญอยู่ แต่ต้องเชื่อมโยงไปสู่บุคคลทั้งคน ต้องไม่ใช่ให้คนคนหนึ่งเดินเข้าไปในโรงพยาบาลต้องไปเจอหมอ 4 คน หัวใจ เบาหวาน ปอด สมอง ปวดขาไปหาหมอกระดูก ได้ยามาโรคละ 3 ตัว กินยา 15 อย่าง ตีกันวุ่นวายไปหมด เหตุการณ์แบบนี้ต้องไม่เกิดขึ้น ต้องมีหมอคนหนึ่งที่รู้จักคนไข้ทั้งคนและสามารถดูแลสุขภาพเขาได้ 95-99% เหลืออีก 5% เท่านั้น ที่จะต้องส่งต่อให้หมอเฉพาะทางดูที่จำเป็นจริงๆ นี่คือ ประเด็นที่สำคัญที่สุดที่จำเป็นในการปฏิรูป” รองประธานมูลนิธิ ศสช.กล่าว

นอกจากนี้ที่ต้องปฏิรูปเพราะต้องการเห็นบุคลากรระบบสุขภาพทำงานร่วมกัน  เพราะปัจจุบันลำพังหมอคนเดียวไม่สามารถทำงานได้ เพราะปัจจุบันมีโรคเรื้อรังเช่น อัมพฤกษ์ อัมพาต ความดันเส้นเลือดในสมองแตก เพราะฉะนั้นการรักษาต้องทำงานกันเป็นทีม ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ แต่ต้องดูแลคนไข้พร้อมกันทีเดียว ไม่ใช่ดูแลคนไข้ทีละชิ้นทีละส่วน  อีกทั้งอยากเห็นบุคลากรระบบสุขภาพใช้เทคโนโลยีสื่อสารสมัยใหม่ เข้ามาใช้ในการรักษาคนไข้ ไม่ว่าจะเป็น ไลน์ สไกป์ เพื่อสื่อสาร/ซักถาม/นัดหมาย คนไข้ เพื่อประหยัดเวลาทั้งคนและหมอ เพราะปัญหาสุขภาพส่วนใหญ่เกิน 90% ไม่ต้องวิ่งมาถึงโรงพยาบาล สามารถพูดคุยกันเพื่อให้คำแนะนำก่อนที่จะมาหาหมอได้  ไม่จำเป็นต้องมารอหมอเป็นชั่วโมงๆแบบที่ผ่านมา 

อยากรักษาทั้งแบบไสยศาสตร์และสมัยใหม่ไปพร้อมกัน 

นายชัชวาล หลียา สมาชิกองค์กรบริหารส่วนตำบลบ้านป่าตึง  อ.แม่จัน จ.เชียงราย ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ของหมู่บ้าน ทำหน้าที่ประสานงานในการนำผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านไปรักษาในโรงพยาบาล กล่าวว่า การผลักดันให้บุคลากรสุขภาพมีการเรียนการสอนแบบ Transformative Learning น่าจะเป็นสิ่งที่ดี ถ้ามีการส่งเสริมให้นักศึกษาลงพื้นที่มากขึ้น แบบที่สศช.ลงพื้นที่พบปะชาวบ้านแบบนี้ เพราะเชื่อว่าหมอฝึกหัดจะเข้าใจบริบทของชุมชน ซึ่งชุมชนเองจะได้สัมผัสกับแพทย์ด้วยเพื่อเรียนรู้กันและกันจะเป็นประโยชน์มาก เพราะเรื่องขนบธรรมเนียมประเพณี ความเชื่อ เป็นสิ่งที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ แต่ต้องเรียนรู้เพื่อยอมรับและเข้าใจกัน กลุ่มชาติพันธุ์อยากรักษาทั้งแพทย์สมัยใหม่และแบบไสยศาสตร์ควบคู่กัน และอยากให้เจ้าหน้าที่บุคลากรสุขภาพเข้าใจเรื่องเหล่านี้

อยากจะบอกหมอว่า เราไม่ได้ต่อต้านการรักษาของหมอ แต่สำหรับการรักษาด้วยไสยศาสตร์ทำให้เรารู้สึกว่าบรรพบุรษมาดูแลรักษาเรา  เพราะฉะนั้น หากพวกเราอยู่โรงพยาบาลและต้องพาคุณทรงเข้าไปทำพิธีเรียกขวัญ ผูกข้อมือ ก็ขอให้หมอและพยาบาลเข้าใจว่าเป็นความเชื่อที่เรารู้สึกว่าเรามีกำลังใจดีขึ้น อย่างไรบางครั้งเจ้าทรงก็บอกเองด้วยว่ารักษาอย่างไรก็ไม่หาย มาหาหมอช้าไป ให้เตรียมตัวเตรียมใจไว้ ซึ่งพวกเราก็ยอมรับ เห็นได้ว่าความเชื่อที่เรามีไม่ได้ต่อต้านการรักษาแบบสมัยใหม่แต่อย่างใด แม้แต่ผีก็ทันสมัย” นายชัชวาล กล่าว

นายชัชวาล หลียา สมาชิกองค์กรบริหารส่วนตำบลบ้านป่าตึง  อ.แม่จัน จ.เชียงราย
นอกจากนี้การเข้าถึงบริการสาธารณสุขของกลุ่มชาติพันธุ์ ยังมีอุปสรรคสำคัญ คือ เรื่องภาษา  โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ไม่สามารถพูดภาษาไทยได้จนไม่สามารถอธิบายอาการเจ็บปวดของตัวเองได้ชัดเจน และภาษาชาติพันธุ์มักจะมีการแปลจากข้างหลังไปข้างหน้า เช่น “เจ็บท้อง” จะบอกว่า “ท้องเจ็บ” ซึ่งความหมายอาจเปลี่ยนไป อยากให้บุคกรสุขภาพเข้าใจและอดทนต่อความช้าของพวกเราในการอธิบายความเจ็บป่วยต่างๆด้วย


หวังผลิตแพทย์รุ่นใหม่ ที่เปลี่ยนตัวเอง (Transform)ให้เข้ากับบริบทสังคม

 จากนั้นทางคณะได้ไปศึกษาดูงานที่โรงพยาบาลแม่จัน ซึ่งเป็นหนึ่งในโรงพยาบาลต้นแบบที่นำ Transformative Leaning มาใช้ โดยเจ้าหน้าที่และแพทย์ฝึกหัดลงพื้นที่ทำงานในชุมชนอย่างต่อเนื่อง โดย ทพ.ดร.วีระ อิสระธานันท์ หัวหน้ากลุ่มงานทันตกรรมโรงพยาบาลแม่จัน จ.เชียงราย กล่าวว่า อ. แม่จัน มีกลุ่มชาติพันธุ์ ประมาณ 25% และกลุ่มคนเหล่านี้เข้าถึงบริการสาธารณสุขยาก เพราะอยู่บนพื้นที่ห่างไกล เพราะฉะนั้น สิ่งที่โรงพยาบาลแม่จัน พยายามทำ คือ การทำให้นักศึกษาสหวิชาชีพลงพื้นที่เพื่อให้เข้าใจวิถีชีวิตประชาชน สร้างความสัมพันธ์กับคนไข้ เพื่อที่จะหล่อหลอมให้เขาเป็นหมอที่ได้รับการยอมรับจากคนในพื้นที่ เพราะฉะนั้นการผลิตแพทย์ในอนาคต ต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ เพราะหากละเลยการปฏิสัมพันธ์กับผู้คน เราก็จะเป็นแค่แพทย์แต่ไม่ใช่คนที่อาศัยอยู่ในชุมชน

“ เมื่อน้องๆได้ศึกษาได้เรียนและสัมผัสชุมชน เขาก็จะรู้สึกมีความเข้าใจผู้คนเหล่านั้น และจะเกิดพลังข้างใน ทำให้เด็กๆเหล่านี้มีอินเนอร์ในการเรียน ถ้าเขาได้เติบโตพ้นจากรั้วมหาวิทยาลัย ไม่ว่าเขาจะไปทำงานที่ไหน เขาก็จะดูแลผู้คนด้วยความเข้าใจและเข้าถึงผู้คนได้  นี่เป็นความหวังในอนาคตที่เราจะผลิตแพทย์ หรือสหวิชาชีพรุ่นใหม่ ที่สามารถเป็นแพทย์ที่ Transformer ตัวตนให้เข้ากับบริบทของสังคม” 

ทพ.ดร.วีระ อิสระธานันท์ หัวหน้ากลุ่มงานทันตกรรมโรงพยาบาลแม่จัน จ.เชียงราย 
ทพ.ดร.วีระ กล่าวต่อว่า ตอนนี้ก็พยายามขายไอเดียให้มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ท้าทายตัวเองด้วยการเปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้(Transform) ของกลุ่มสหวิชาชีพ ด้วยการให้มีอาคารเรียนของมหาวิทยาลัยอยู่นอกสถานศึกษา เช่นอาจจะอยู่ตามโรงพยาบาลและชุมชน เพื่อที่ในอนาคตเราจะได้กลุ่มสหวิชาชีพที่เข้าใจบริบทและสามารถทำงานกับผู้คนได้ ที่สำคัญยังทำให้พี่น้องชาติพันธุ์ที่อยู่ชายขอบสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้มากขึ้น ซึ่งงานเหล่านี้เป็นงานที่ยากและต้องทำด้วยใจ


ช่วยหล่อหลอม "ความเป็นหมอ"  รู้สึกเหมือนมีคนที่รอให้เรากลับไปรักษา 

สำหรับประสบการณ์การเรียนแบบ Transformative Learning นั้นก็ได้รับการตอบรับจากนักศึกษาเป็นอย่างดี โดย นส. พันธิตรา มณฑาทิพย์กุล นักศึกษาคณะแพทยศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 ม.แม่ฟ้าหลวง กล่าวว่า การเรียนแบบ Transformative Learmting ช่วยหล่อหลอมความคิดให้ตัวเองมีความเป็นหมอมากขึ้น เพราะ ยอมรับว่าตอนที่สมัครมาเรียนคณะนี้ เพราะต้องการความมั่นคงในชีวิต แต่หลังจากที่เราลงไปเห็นวิถีชีวิตชาวบ้าน ช่วยทำให้เหมือนเราเอาเขามาอยู่ในใจ และ เอาตัวเราไปอยู่ในใจเขามากขึ้น 

“เพราะฉะนั้น เมื่อเราได้เป็นแพทย์เราก็จะไม่คิดถึงแค่ตัวเองอีกต่อไป เพราะการที่เราได้ไปอยู่ตรงนั้น ทำให้เรารู้สึกว่าคนเหล่านี้เขากำลังรอให้เรากลับไปดูแลเขาอยู่ และเขาก็พร้อมที่จะรับเราและเขาก็รู้สึกดีที่เราอยู่ตรงนั้น มันเป็นความรู้สึกที่แบบเหมือนมีคนที่รอเราอยู่และเราเองก็อยากกลับไปดูแลคนเหล่านั้น”
นส. พันธิตรา มณฑาทิพย์กุล นักศึกษาคณะแพทยศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 ม.แม่ฟ้าหลวง 
ทั้งนี้การลงพื้นที่ตอนนั้นต้องทำความรู้จักชุมชนว่าเขามีวัฒนธรรมประเพณี ความเป็นอยู่อย่างไร โดยต้องมีการทำแผนที่เดินดิน ซึ่งถือว่าสำคัญมาก เพราะทำให้เรารู้จักแต่ละครอบครัวว่าเขาอยู่ที่ไหน มีผู้ป่วยหรือไม่ และคนในบ้านมีความสัมพันธ์กันอย่างไร ข้อมูลเหล่านี้เป็นประโยชน์มาก เพราะการดูแลประชาชนต้องดูแลทั้งเชิงรุกและเชิงรับ นั่นคือการรักษาประชาชนเมื่อเขาป่วยและการวางแผนป้องกันไม่ให้เขาป่วย

ขณะที่ นส.ธนาญา ศีลธิปัญญา  นักศึกษาคณะแพทยศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 กล่าวเสริมว่า ก่อนที่จะเข้ามาเรียนในคณะนี้ ก็อยากจะทำงานแบบโครงการหมอกระเป๋าเขียวแบบมูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พอ.สว.)อยู่แล้ว เมื่อเราได้ลงพื้นที่ก็ช่วยให้เราเข้าใจมุมที่เราไม่เคยเข้าใจมากขึ้น เพราะโดยส่วนตัวมาจาก กรุงเทพฯไม่เคยเห็นแบบนี้มาก่อน ในบรรยากาศการทำงานแบบทุกฝ่ายร่วมมือกันจีงจะสำเร็จ และขอชื่นชมพี่ๆเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอย่างมาก ที่ทำงานใกล้ชิดประชาชนจนได้รับความไว้วางใจ ทำให้การขอความร่วมมือในการวางแผนการดูแลสุขภาพประชาชนทำได้ง่ายขึ้น เพราะประชาชนเชื่อใจเจ้าหน้าที่มาก

นส.ธนาญา ศีลธิปัญญา  นักศึกษาคณะแพทยศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 
“ การไปอยู่กับชุมชนก็มีปัญหาเรื่องภาษา เพราะไม่เคยใช้ภาษาเหนือมาก่อน แต่เขาก็เห็นความตั้งใจของเรา มันเลยทำให้เรารู้ว่า คนเราเมื่อตั้งใจทำอะไรจริงๆ แม้จะมีปัญหาเรื่องภาษาและอาจจะสื่อกันไม่ได้เต็มร้อย แต่ก็สามารถเข้าใจกันได้ คนไข้ในชุมชนให้ความร่วมมือและเห็นคุณค่าในความเป็นหมอของเรา ยิ่งตอกย้ำว่าเราคิดถูกนะที่เรามาทางนี้ ในอนาคตคงกลับมาทำแบบนี้"








บรรยากาศการลงพื้นที่หมู่บ้านชาติพันธุ์ของมูลนิธิเพื่อการพัฒนาการศึกษาบุคลากรสุขภาพ (ศสช.)

นพ.สุวิทย์  วิบุลผลประเสริฐ รองประธานกรรมการมูลมูลนิธิเพื่อการพัฒนาการศึกษาบุคลากรสุขภาพ (ศสช.)  ลงพื้นที่ในหมู่บ้านเพื่อดูความเป็นอยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์

นายชัชวาล หลียา สมาชิกอบต.บ้านป่าตึง บอกเล่าปัญหาการเข้าถึงระบบสาธารณสุขของกลุ่มชาติพันธุ์  พร้อมกับโชว์สมุนไพรที่กลุ่มคนชาติพันธุ์ใช้รักษาตัวเองเมื่อยามเจ็บป่วย ควบคู่ไปกับการแพทย์สมัยใหม่



กลุ่มชาติพันธุ์สาธิตการรักษาอาการเจ็บป่วยตามวิถีและวัฒนธรรมของตัวเอง 


ทพ.ดร.วีระ อิสระธานันท์ หัวหน้ากลุ่มงานทันตกรรมโรงพยาบาลแม่จัน จ.เชียงราย  ถ่ายทอดความรู้แนวทางการรักษาคนไข้แบบ Transformative Learning ให้กับนักศึกษาคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง 
ติดตาม  ProgressTH.org   Facebook ที่นี่ หรือ Twitter ที่นี่